THE EVOLUTION OF THAI ROMANTIC SONG LYRICS: วิวัฒนาการเนื้อหาเพลงรักจากวันวานจนถึงวันนี้

THE EVOLUTION OF THAI ROMANTIC SONG LYRICS: วิวัฒนาการเนื้อหาเพลงรักจากวันวานจนถึงวันนี้

 

 

อีกด้านของเพลงรักคงไม่ใช่แค่การฟังเพื่อความบันเทิง แต่เป็นการคลุกเคล้าระหว่าง รสชาติของยุคสมัย การแสดงออกทางสังคม ความนิยมของคนแต่ละช่วงชีวิต ถูกบีบอัดแล้วผลิตออกมาเป็น เทป แผ่นเสียง ซีดี สตรีมมิ่ง หรือสื่อทางดนตรีของโลกอนาคตที่เราเองก็ยังไม่สามารถล่วงรู้ได้ 

แม้ผู้เขียนจะไม่ได้เติบโตมากับเรื่องหวานเลี่ยนในความรักหรือเจอกับการผิดหวังนั่งอกหัก แต่ทุกๆ ครั้งที่ฟังเพลงรักก็รู้สึกว่าตัวเองหลุดไปอยู่ในโลกของเหล่านักประพันธ์ ดีบ้าง ไม่สมเหตุสมผลบ้าง แต่สิ่งที่สัมผัสได้บางอย่างคือการนำเสนอใจความของเนื้อหาเพลงที่แทบจะไม่เหมือนกันเลยสักยุคเดียว

เพราะหลายเพลงรักของไทย คือปรมาจารย์ชั้นครูที่สะท้อนให้เห็นถึงความคิด ชีวิต และการสร้างแรงบันดาลใจ ในวันนี้เลยอยากชวนผู้อ่านมาร่วมเดินทางไปกับเราในเรื่องราวของ “วิวัฒนาการของเนื้อหาเพลงรัก” ทั้ง 6 ยุคใหญ่ๆ ตั้งแต่รุ่นพ่อยันโลกดนตรีที่ไร้รอยต่อของปี 2020 แล้วมาดูกันว่าเนื้อหาที่สื่อสารออกมาจะเปลี่ยนไปสักแค่ไหน อาจไม่ใช่ในฐานะนักวิจารณ์ แต่ผู้เขียนขอเป็นนักเขียนผู้เชี่ยวชาญการจับนู่นผสมนี่ให้กับเพลงรักจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

1960s

 

“เพลงสตริง” ของไทยถือเป็นจุดเริ่มต้นของระยะทางกว่า 50 ปีของวิวัฒนาการเพลงรักในบทความนี้ ทำความเข้าใจกันก่อนว่าในช่วงปี 1960s นั้น มีอิทธิพลของเพลงร็อคแอนด์โรล ดิสโก้ โซล จากประเทศตะวันตกหลั่งไหลเข้ามามากมาย 

ผู้เขียนขอรวบรัดตัดตอนเรื่องที่มาของธุรกิจอุตสาหกรรมดนตรีไว้ และคัดเลือกศิลปินในยุคนี้มาเป็นตัวแทนให้ จะเป็นใครไม่ได้นอกจาก ดิ อิมพอสซิเบิ้ล, 18 กะรัต และ ชาตรี ซึ่งขอนิยามเนื้อหาเพลงรักในยุคนี้ว่าเป็น “ความรักที่อยู่ในโลกของเราแค่สองคน”

เพราะเนื้อหาของเพลงในยุค 1960s จะมีเพียงเรื่องราวของหนุ่มสาวสองคนที่เพ้อรำพันถึงความรักของกันและกันราวกับว่าโลกนี้ช่างสวยงามและอะไรก็ดูจะเป็นสีชมพูไปเสียทั้งหมด หรือจะพูดว่าอยู่ในโลกของความรักแบบวรรณกรรม แฟนตาซีก็คงจะไม่ผิดนัก อาจจะเป็นเพราะในยุคที่ผ่านมาให้หลัง 10 ปีกว่าๆ จากสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นผู้คนในบ้านเรามีความสุขมากขึ้น เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ความบันเทิงจึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งชีวิตประจำวัน 

 

เป็นไปไม่ได้: ดิ อิมพอสซิเบิ้ล

 ภาษาที่ใช้นั้นมีความดูดดื่ม นุ่มนวล สัมผัสสละสลวย ยกตัวอย่างเช่น เพลงดังของวงสตริงคอมโบที่นำโดยอาต้อย เศรษฐา อย่างวง ดิ อิมพอสซิเบิ้ล ที่มีช่วงฮุกติดหูที่ว่า “หากฉันมีสิบหน้าอย่างทศกัณฐ์ สิบหน้านั้นฉันจะหันมายิ้มให้เธอ สิบลิ้น สิบปาก อยากฝากคำพร่ำเพ้อ ว่ารักเธอ รักเธอ เป็นเสียงเดียว” 

  

ใจเธอใจฉัน: 18 กะรัต

 หรือจะเป็น “ใจฉันมีแต่เธอ มีแต่เธอคนเดียว นอกจากเธอไม่แลเหลียวใคร ส่วนใจฉันก็มีแต่เธอมีแต่เธอทุกห้องดวงใจ จะอย่างไรไม่แปรฤทัยเปลี่ยนผัน” ของวงดูโอ้ชายหญิง 18 กะรัต ก็ชี้ให้เห็นชัดว่าวัฒนธรรมการเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาวยุคนี้ มีความเพ้อรำพันแต่จริงใจกับคู่รักอย่างแน่วแน่โดยไม่สนใจโลกภายนอก

 

รักครั้งแรก: ชาตรี

 อีกท่อนของเนื้อเพลงจากวง ชาตรี อย่างเพลงรักครั้งแรกที่ว่า “แอบมองไปเจอฉับพลันนั้นเธอก็เหม่อมองสบสายตา เธอต้องอุราให้ฉันคิดรักเธอในแรกเราพบกัน ใจตรงกับใจ สายตาที่บอก คิดยืนยันแอบรักเมื่อวันก่อน เกิดเป็นความรัก ความรักเมื่อแรกเจอ จิตใจละเมอติดยังฝังตรึง” ก็เป็นอีกเนื้อหาเพลงที่สะท้อนเพลงรักยุค ‘60s ของไทยได้เป็นอย่างดี

 

1970s

 



ในยุคที่เพลงบัลลาดร็อคทั่วโลกรุ่งเรืองนั้น ประเทศไทยได้มีวงดนตรีหน้าใหม่ถือกำเนิดขึ้นมากมายนับไม่ถ้วน แต่ในกรณีนี้ ผู้เขียนขอยกตัวอย่างวงสตริงที่ล้วนมีกลิ่นอายของอิทธิพลเพลงร็อคแอนด์โรลจากยุคก่อนหน้ามาเป็นกรณีศึกษา อย่างวง แกรนด์เอ็กซ์, ดิ อินโนเซนท์ และ พิงค์ แพนเธอร์

ทั้ง 3 วงเป็นศิลปินที่น่าจะเป็นตัวแทนช่วยฉายภาพเนื้อหาเพลงรักของยุค ‘70s ได้อย่างลงตัวที่สุด ซึ่งผู้เขียนขอนิยามเนื้อหาเพลงรักของยุคนี้ว่า “ความรักที่แสนจริงใจและห่วงหาอาวรณ์”

เนื้อหาโดยรวมของเพลงรักในยุคนี้ มีการใช้เนื้อหาที่ตรงตัว จริงใจ ซื่อสัตย์ในความรัก และมองคู่รักว่าเธอ (หรือเขา) คือรักแท้ที่ถูกกามเทพลิขิตให้รักกันมาแต่ชาติปางก่อนอะไรทำนองนั้น แต่จะอยู่กับความเป็นจริงกับโลกปัจจุบันมากกว่ายุค ‘60s บ้างเล็กน้อย อาจจะเป็นเพราะเริ่มมีวิวัฒนาการทางด้านการสื่อสาร การแสดงออกของสื่อในยุคนั้นที่เริ่มมีอิทธิพลของหนัง เพลง ภาพยนตร์จากตะวันตกมากขึ้น

 

รักในซีเมเจอร์: แกรนด์เอ็กซ์

“แอบรักเธอ อยู่ในใจเก็บหัวใจ ไว้ที่เธอ วันทั้งวัน ฉันมองเหม่อ คิดถึงเธอ ทุกคืนวัน...ขอรักจริง รักเพียงเธอ”

ท่อนหนึ่งของเพลง รักในซีเมเจอร์ของวงแกรนด์เอ็กซ์ทำให้เห็นว่าชายหนุ่มยุคนั้นมีความโรแมนติกแบบจริงใจและมุ่งมั่นที่จะรักหญิงสาวแค่คนๆ เดียว แค่ได้อยู่ด้วยกันก็มีความสุขมากพอแล้ว 

 

ฝากรัก: ดิ อินโนเซนท์

หรือจะเป็น เพลงฝากรัก จากวง ดิ อินโนเซนท์ที่ว่า “อยากจะจองตัวเธอเป็นของฉันคนเดียวเปล่าเปลี่ยวอยู่นานเท่าไหร่ เห็นเธอก็อยากสมัครใจ ขอโปรดทราบเอาไว้ดวงใจฉันให้เธอครอง” ก็น่าจะเป็นตัวอย่างที่เห็นภาพได้ชัด 

 

รักฉันนั้นเพื่อเธอ: พิงค์ แพนเธอร์

 และที่ขาดไม่ได้เลยคือเนื้อเพลงของวง พิงค์แพนเธอร์ กับเพลงรักฉันนั้นเพื่อเธอ ที่ร้องว่า “กาลเวลาหรือจะมาเกี่ยว ใจฉันยังเด็ดเดี่ยวอยู่เสมอ ฉันยังซึ้งถึงวัน ที่เธอกับฉันพร่ำรักรำพันเพียงเราสอง...รักฉันนั้นเพื่อเธอ” ก็เป็นเนื้อหาที่เป็นตัวแทนนิยามความรักที่แสนจริงใจสำหรับเพลงรักในยุค ‘70s นี้ได้ค่อนข้างตรงตัว

 

 

 

1980s

 



 

ส่วนตัวผู้เขียนเชื่อว่าเพลงรักในยุค “แปดศูนย์” นี้มีเนื้อหาที่ “เหนือกาลเวลา” มากที่สุด ในความไพเราะของเนื้อเพลงผสมกับทำนองที่มีเอกลักษณ์นี้สามารถฟังได้ทุกช่วงวัย ไม่ถึงขนาดหวานเลี่ยนแต่ยังพอมีความน่ารักปนขี้เล่นนิดๆ ที่ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็เข้าใจความหมายของเพลงแบบที่ไม่ต้องตีความมากนัก และในยุค 1980s นั้นถือว่าเป็นยุคที่เพลงป๊อบของไทยรุ่งเรืองมากที่สุดยุคหนึ่ง เพราะวงดนตรีในตำนาน นักแต่งเพลงมือฉมัง ล้วนเกิดขึ้นในยุคนี้แทบจะทั้งนั้น 

 

 หมั่นคอยดูแลและรักษาดวงใจ: เบิร์ด ธงไชย

คงไม่มีใครไม่เคยฟังซุปเปอร์สตาร์เพลงป๊อบอันดับ 1 ตลอดกาลอย่างพี่เบิร์ด ธงไชย และเพลงของเขาในยุคนี้อย่าง หมั่นคอยดูแลและรักษาดวงใจ เป็นเนื้อหนึ่งในเนื้อเพลงรักไทยที่ผู้เขียนคิดว่าเนื้อหาดีที่สุดในแง่ของการสื่อสารให้คู่รักอิ่มเอมใจ 

“แต่เรายังมีใจกันไว้ไม่หวาดหวั่นจะไม่เหลือดวงใจที่คิดเผื่อใคร สิ่งที่ฉันต้องการก็คือให้เราคอยดูเสมอ หากเราเผลอลืมไปแล้วดวงใจจะหาย หมั่นคอยดูแลและรักษาดวงใจเก็บเอาไว้จนวันที่ฉันเคียงคู่เธอ”

ผู้เขียนเคยถามผู้ใหญ่รุ่นราวคราวเดียวกับพ่อแม่ว่า หากพวกเขาเปิดเพลงนี้ฟังกันสมัยวัยรุ่น แต่อีก 30 ปีถัดมาเขายังนั่งฟังกันอยู่ผ่าน Spotify เนื้อหาที่สื่อออกมาและความรู้สึกเหมือนเดิมอยู่ไหม คำตอบคือใช่แบบไม่ต้องคิด

 

หลับตา: ชรัส เฟื่องอารมณ์

จะมีเนื้อเพลงไทยสักกี่เพลงที่ดูทะนุถนอมเท่ากับเพลง หลับตา จากนักร้องเสียงนุ่ม ชรัส เฟื่องอารมณ์ ที่รับประกันว่าเด็ก ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงวัยได้ยินก็ต้องพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ซึ้ง” และไม่ว่าจะฟังตอนไหนก็ยังจะรู้สึกแบบนั้นเพราะความเหนือกาลเวลาของเนื้อเพลง “หลับตาสิที่รัก ในวงแขนของฉัน จะไม่มีผู้ได้คิดทำร้ายเธอได้ หลับตาสิที่รัก ขอเธอนอนหลับฝัน เพื่อพรุ่งนี้ได้พบวันใหม่กับฉัน” 

 

 

1990s

 



เนื้อเพลงสมัย Y2K (ถ้าใครยังจำกันได้) จะเริ่มกลับมาสู่ความเป็นจริงโดยใช้ภาษาพูดมากกว่าภาษากวีในเนื้อเพลงยุคที่ผ่านๆ มาและถ้าหากสังเกตดีๆ ในยุคที่เป็นจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยีของเมืองไทย เพลงรักนี่แหละเป็นตัวสะท้อนสังคมแบบ “พูดกันแบบตัวต่อตัว” เพราะเราเริ่มมีการสื่อสารที่เป็น Two-way Communication กันมากขึ้น มีโทรศัพท์มือถือ มีเพจเจอร์ มีการริเริ่มโปรแกรมแชทอย่างพวก ICQ ให้ได้เห็นกันบ้างแล้ว

 

แค่เธอรักฉัน: ทาทา ยัง

แค่เธอรักฉันแค่นั้นที่ใจต้องการ แม้วันเวลาเนิ่นนานเพียงใด แค่เธอรักฉันอย่างนี้ทุกวันเรื่อยไป เหมือนเดิมและตลอดไป นี่แหละแบบที่หัวใจฉันต้องการ” เนื้อเพลงประกอบหนังดังของวัยรุ่นยุค “เก้าศูนย์” ของ ทาทา ยัง อย่างโอเนกาทีฟ รักออกแบบไม่ได้ เพลงนี้ผู้เขียนเชื่อว่าเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการตีความของยุค 

 

เธอสวย: Double U

“เธอสวย ทุกนาทีที่เคยสัมผัส รู้ทันทีว่าเธอคือคนพิเศษที่ฉันรอมานาน ที่ฟ้าให้มาเจอกัน ให้ฉันมีเธอ” ความหมายตรงๆ ตามตัว บอกให้เจ้าตัวรู้เลยว่าเธอสวย ถูกใจมาก และรู้สึกยินดีที่โชคชะตาลิขิตให้มารักกัน

 

เปรี้ยวใจ: นิโคล เทริโอ

“สุดที่รักของฉันน่ารักที่สุด เป็นมนุษย์ที่น่าเอ็นดู อาจไม่หวานไม่ขมตัวฉันไม่รู้แต่ถ้ามีเธออยู่มันเปรี้ยวใจ”

เท่าที่ผู้เขียนเติบโตมากับยุค 1990s นี้ เพลงเปรี้ยวใจเป็นเพลงที่มีความหมายค่อนข้างดี มีการใช้การเล่นคำที่มาแทนที่ว่าหวานใจว่า “เปรี้ยวใจ” ซึ่งถือเป็นลูกเล่นที่หาได้ยากในยุคนั้น ดูออกจะฉีกแนวจากบรรดาเพลงสมัยนั้นสักหน่อย แต่ก็ยังอยู่ในเรื่องราวของการพูดกันแบบตัวต่อตัว อยากให้คู่รักรับรู้แต่เพียงผู้เดียว

 

2000s

 

 

MSN: เฟย์ ฟาง แก้ว

เข้าสู่ยุค 2000s ที่ผู้เขียนอยากนิยามว่าเป็นยุค “รักกุ๊กกิ๊ก” เพราะเนื้อหาของเพลงที่เบาสมอง มีการใช้ทำนองสนุกๆ เข้ามาทำให้เพลงสดใส และด้วยความที่เป็นสหสวรรษใหม่ เทคโนโลยีก็เริ่มรุกล้ำเข้ามา นักแต่งเพลงเลยใช้เหตุผลนี้เป็นตัวหาความเชื่อมโยงระหว่างหนุ่มสาวกับความก้าวทันโลก ผู้เขียนมองเห็นค่ายเพลง 2 ค่ายหลักๆ ที่ดึงเรื่องราวนี้มานำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นเพลง MSN ของ เฟย์ ฟาง แก้ว “เจอเธอออนเอ็มเมื่อไหร่ เราควรจะแชทเลยไหม หรือว่าแกล้งๆ ออฟไลน์” 

 

 

ได้พบเธอ: P.O.P

หรือค่ายเพลงรักของ บอย โกสิยพงศ์ อย่างเบเกอรี่ ที่มีศิลปินเพลงรักมากมายนับไม่ถ้วนไม่ว่าจะเป็น Groove Riders, P.O.P, Friday ที่ฟังแล้วยังไงก็ให้ความรู้สึกรักกุ๊กกิ๊กต่างไปจากยุคอื่นอย่างเห็นได้ชัด 

 

 

2010s



เคยมีนักวิจารณ์เพลงท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า เนื้อหาของเพลงสมัยใหม่ (ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นไปจนถึงปัจจุบัน) เนื้อเพลงนั้นจะแสดง “ความรู้สึกส่วนตัวระหว่างสองต่อสอง” ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ที่ผู้เขียนเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งอันที่จริงเพลงเหล่านี้จะเป็นเพลงที่ฟังได้เฉพาะช่วงวัยหนึ่งเท่านั้น เพราะเป็นการพูดแบบเถรตรง แสดงความรู้สึกแบบไม่ต้องอ้อมค้อม อยากจะได้เป็นเจ้าของ อยากให้รู้ว่าฉันกำลังรักเธออยู่คนเดียว จึงขาดความละมุนละไมของเนื้อหาที่เราจะพบเจอในเพลงยุคเก่าๆ ทำให้เรื่องนี้น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการที่ผู้เขียนคิดว่าจะฟังได้เฉพาะเพียงช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตเท่านั้น 

 

 

รักเธอ:โต๋ ศักดิ์สิทธิ์

 “อ่านปากของฉันนะ ว่ารักเธอ อยากจะพูดอีกครั้ง ว่ารักเธอ และจะเป็นอย่างนี้กับเธอไม่ว่านานสักเท่าไหร่”

 

จูบ: Jetset’er

 “Oh Baby ฉันรักเธอเท่านั้น ใต้แสงจันทร์มีเพียงเราสอง..โอ ฉันจะจูบเธอ”

 

จะบอกเธอว่ารัก: The Parkinson

“จะบอกเธอว่ารัก หมดไปทั้งหัวใจ เธอได้ยินไหม หยุดมันไม่ไหวตั้งแต่แรกเจอ”

 

ลูกอม: Watcharawalee

“จะมีเพียงเธอ รักเพียงแต่เธอ โอบกอดเธอด้วยรัก รักและห่วงใจ...สัญญาจะดูแลเธอจากนี้ตลอดไป”

Back to blog