‘บาร์ที่ดี’ ต้องเป็นเหมือนพื้นที่ปลอดภัย ให้ผู้ดื่มหลบหลีกสาระพันเรื่องร้ายที่เจอมาทั้งวัน
หลังจากก้าวข้ามประตูเข้ามาในร้าน ยิ่งถ้ามีเครื่องเล่นแผ่นเสียงวางคู่แผ่นเสียงเพราะๆ กับดีเจซักคน เท่านี้ก็พร้อมที่จะนำพาเราหลบลี้จากความวุ่นวาย สู่โลกของจินตนาการอันไร้จำกัด
บาร์มักจะเป็นพื้นที่ที่ตามมาด้วยเรื่องของคอนเซ็ปต์ กลเม็ดเด็ดพรายที่แต่ละร้านเลือกจะนำเสนอดึงดูด ผู้คนให้ตบเท้าเข้าร้าน หากกล่าวถึงยุคสมัยในเวลานี้เราคงคุ้นหูคุ้นตาดีกับ ‘ไวนิลบาร์’ หรือบาร์ที่มีการเปิดเพลงด้วยแผ่นเสียง จะเป็นในรูปแบบดีเจหรือ LP ก็แล้วแต่ แผ่นเสียงถือว่าเป็นฟอร์แมตการฟังเพลงที่ให้คุณภาพเสียงดีเยี่ยม แต่ในส่วนที่ทำให้แตกต่างจากพวก คือบรรยากาศและอารมณ์ที่พรั่งพรูออกมาอย่างประเมินค่าไม่ได้
สำหรับชาว digger ทั้งหลาย เมื่อถึงฤดูแห่งการล่าในต่างแดน โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นหนึ่งในแหล่งขุมทรัพย์ที่สนุกที่สุด จุดหมายปลายทางไม่ใช่เพียงแค่การไปขนแผ่นเสียงกลับบ้านเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการได้ไปตระเวนนั่งไวนิลบาร์ภายใต้การตกแต่งด้วยแผ่นเสียงที่มาจากคอลเลคชั่นส่วนตัวของเจ้าของร้านจริง ๆ ท่ามกลางบทสนทนาภายใต้หัวข้อที่จะหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามท่วงทำนองในแต่ละคืน ทำให้หลายคนอิ่มเอมใจทุกครั้งที่ได้ไปเยือนบาร์หลังเล็กเหล่านี้เสมอ
ตัดภาพกลับมาภายใต้สถานการณ์อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ประเทศญี่ปุ่นคงไม่ได้เป็นเหมือนสวนหลังบ้านของเราอย่างน้อยไปอีกหลายปี ทำให้ผมต้องออกหาสถานที่จรรโลงใจยามวิกาลไว้คอยสปอยตัวตนในโลกทางดนตรีของผมเอง และในบทความนี้ได้รวบรวมไวนิลบาร์ 5 ร้านที่สไตล์ไม่ซ้ำกันในกรุงเทพฯ ที่ผมอยากแนะนำให้นักสะสมแผ่นเสียงทั้งหลายได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนดูสักครั้งหรือใครที่ไม่ได้มีแผ่นเสียงไว้ในครอบครองก็ควรที่จะไปอย่างยิ่งเพราะบางทีพื้นที่เหล่านั้นอาจจะทำให้คุณทะลุมิติมาเจอกับโลกของเสียงเพลงคู่ขนานที่คุณอาจรู้จักและเคยได้ยินมาก่อน แต่กลับหยุดตั้งคำถามและปลื้มปริ่มมิได้ เมื่อได้มองและฟังมันจากเทิร์นเทเบิล
______________________________________________________________________
น้อยนักที่ผมอยากจะเลือกเดินเข้าบาร์ใหญ่ ๆ แบบนี้ ด้วยความรู้สึกที่มีอยู่เป็นทุนเดิมแล้วว่าพื้นที่แบบนี้ มักพบเจอกับความวุ่นวายมากกว่าความสงบ แต่เห็นทีคงจะต้องขอยกเว้นให้กับ Lennon’s
ก้าวแรกที่เดินพ้นออกมาจากลิฟต์เผชิญหน้ากับไวนิลไลบรารี่ที่น่าเกรงขาม แผ่นเสียงจำนวนกว่า 6,000 แผ่นถูกเรียงหลายชั้นคอยต้อนรับและดึงอารมณ์ร่วมของผู้คนออกมาได้ไม่มากก็น้อย พอเดินเข้ามาในโซนสเตชั่น สำหรับชาวออดิโอไฟล์คงจะถูกอกถูกใจกับซาว์ดซิสเท็มเรียบหรูหลายชิ้นอย่างเทิร์นเทเบิล Nottingham แอมพลิไฟเออร์ Mcintosh และลำโพง Harbet ด้วยการคัดสรรจาก Maarten Goetheer มิวสิคไดเรกเตอร์ของ Lennon’s
ภายในบาร์จะตกแต่งด้วยบรรยากาศช่วงทศวรรษ ‘70s ในสไตล์อาร์ตเดโคผสมเรโทร โทนสีดาร์ดวูด ที่เข้ากับแสงไฟและเนื้อหนังของเฟอร์นิเจอร์ทองเหลืองที่ขับกลิ่นมาสคิวลีนพุ่งเตะจมูกไปทั่วทั้งชั้น รวมถึงยังมีลูกเล่นเด่น ๆ อย่างไดเนอร์ย้อนยุคที่ช่วยตึงบรรยากาศความคลาสสิกไว้ให้ไม่เสื่อมคลาย โดยแนวเพลงของบาร์นี้จะผลัดเปลี่ยนกันไปทั้งป็อป ร็อค บลูส์ แจ๊ส รวมถึงเพลงไทยลูกกรุงเก่า ๆในส่วนของค็อกเทลบาร์อยู่ตรงกลางระหว่างโซนตะวันออกและตะวันตกของร้าน จะพบกับปอนด์ บาร์เทนเดอร์สายเอนเตอร์เทนที่คอยดูแลอย่างไม่ขาดตก หนึ่งในเมนูซิกเนเจอร์ที่ทางร้านนำเสนอ Maria ค็อกเทลที่ตั้งตามชื่อเพลง Maria ของ Ricky Martin ฉะนั้นรสชาติเครื่องดื่มก็มีความเป็นละตินป็อปตาม แนวเพลง ส่วนผสมหลักเป็นเตกีล่าและชรับแอปเปิลที่ทางบาร์ทำเอง มีพริกไทยสีชมพูมาเติมความจัดจ้านให้ความรู้สึกเราได้ขยับแข้งขยับขา ตอนท้ายมีเลมอนเข้ามาตัดให้รสอมเปรี้ยวจิบสบาย
น้อยคนที่จะรู้ว่าบาร์สปีกอีซี่ย่านเพลินจิตแห่งนี้ พื้นที่ที่เรานั่งสังสรรค์หรือขมวดอารมณ์กันอยู่นั้น เติบโตมาจากคอนเซ็ปต์ที่โรแมนติกขั้นสุด
มาร์เท่นเช่ือว่าเพลงเป็นสิ่งที่ทำงานกับอารมณ์ความรู้สึกของคนอยู่ทุกช่วงขณะ มันจะพาให้เรานึกถึงช่วงเวลาสำคัญในความทรงจำ ทั้งรูปรสกลิ่นเสียงที่เราเคยสัมผัสจะวิ่งชนมาจากทุกทิศทาง เขาจึงวางให้พื้นที่นี้มีเสียงดนตรีรายล้อมคอยเชื่อมเราเข้ากับช่วงเวลาดี ๆ ที่ผ่านมาได้เพียงแค่เปิดหูสองข้าง ซึ่งเพลงจะเป็นเหมือนเครื่องจักรที่นำพาเรากลับไปโดยมีเครื่องดื่มคอยเป็นเชื้อเพลิง ชื่อ Lennon’s ก็มา จากชื่อคนรู้จัก เมื่อสมัยที่เขานั้นทำงานอยู่ที่โตเกียว หลังจากที่ได้เข้าใจถึงคอนเซ็ปต์พื้นที่ที่เขานั้นวาด ไว้ เราก็จึงเข้าใจว่าทำไมชื่อร้านต้องเป็นชื่อนี้ “เวลาเรามานั่งอยู่ที่นี่ไม่ใช่แค่ได้ยินเสียงเพลงแต่เราจะ รู้สึกถึงเสียงเพลงด้วย”
______________________________________________________________________
Studio Lam
Sukhumvit 51
ห้องทดลองที่เหล่านักวิทยาศาสตร์ในคราบนักดนตรีมาบรรจงเล่นบรรเลง
ไวนิลบาร์มากเอกลักษณ์ทางดนตรีตั้งอยู่ในพื้นที่ทำการย่านทองหล่อ ดำเนินงานโดยดีเจมาฟต์ไซ หรือณัฐพล เสียงสุคนธ์ ผู้ก่อตั้งสุดแรงม้าเรคคอร์ดที่ปลุกเสกแนวเพลงไทยฟังก์และหมอลำให้เป็น ที่รู้จักในตลาดดนตรีโลก ตั้งแต่เริ่มจนถึงทุกวันนี้ Studio Lam มีแนวดนตรีที่หลากหลายไหลเวียนไปมาอยู่ตลอด ไล่ตั้งแต่แจ๊ส โซล ฟังก์ ดิสโก้ ไปจนถึงแนวพื้นเมืองอย่างเพลงจากภาคใต้ อีสาน เหนือ ภาคกลาง ซ้ำยังเปิดโอกาสเป็นที่ทางให้ศิลปินนอกกระแสทั้งไทยและเทศมาแสดงลวดลายที่บรรดาสื่อต่างประเทศต่างยกให้บาร์หลังนี้เป็นถึงสถาบันทางดนตรีกันเลยทีเดียว
Studio Lam มาจากชื่อของเรดิโอโชว์ที่ตัวมาฟต์ไซเคยจัด ตอนเริ่มความในใจของเหล่าผู้ก่อตั้งเองอยากให้บาร์แห่งนี้เป็นเหมือนห้องสตูดิโอจริง ๆ ฉะนั้นการเลือกวัสดุมาตกแต่งทุกอย่างจะเกี่ยวเนื่องกับหลักการเรื่องเสียง ทั้งไม้มะพร้าวที่เป็นระแนงคอยซับเสียงให้อบอุ่น กระจกดับเบิลเกลซและประตูสตูดิโอที่ช่วยกันเสียงไม่ให้ออกไป
บนผนังของร้านจะตกแต่งด้วยแผ่นเสียงที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปตามรอบเดือนเป็นซีเลคชั่นพิเศษจากสุด แรงม้าที่บ่งบอกอารมณ์ของแนวดนตรีในแต่ละเดือนโดยจะมีตั้งแต่เรกเก้ อิเล็กทรอนิกส์ แจ๊ส แนว ทดลอง แอมเบียนต์มิวสิค หมอลำ ซึ่งถ้าเราถูกชะตาแผ่นไหนก็สามารถซื้อกลับบ้านได้เลย
ในส่วนของเครื่องดื่ม ดีเจเบน—สรวรรธน์ สุวิพร ผู้ก่อตั้งร่วม Studio Lam และเจ้าของ Ceremony Chocolate บอกว่าเครื่องดื่มที่นี่นั้นมีขึ้นเผื่อซัพพอร์ตรสชาติทางดนตรี ซึ่งย้อนกลับไปจุดเริ่มที่นี่เป็นที่แรกที่เล่นเพลงหมอลำแบบใส่ใจคุณภาพ ฉะนั้นเครื่องดื่มที่สื่อตัวตนของเพลงท้องถิ่นได้ชัดที่สุดก็คือ ยาดอง ที่ร้านนำยาดองมาหมักกับผลไม้ตามฤดูกาลต่าง ๆ ซึ่งค็อกเทลตัวที่ผมได้มาอยู่มือคือ original twist ที่นำโด่ไม่รู้ล้มแต่งกลิ่นด้วยอโรมากาแฟแล้วนำมาทำเป็นเนโกรนีในแบบคลาสสิกค็อกเทลที่ช่วยเติม กำลังวังชาภายใต้แสงจันทร์ได้ดีที่เดียว
มาฟต์ไซบอกกับผมต่อว่า สิ่งที่ต้องเอาใจใส่ทำควบคู่กันไปกับเรื่องดนตรีคือ คุณภาพของเสียงที่ออก ไป เพราะมันเป็นตัวกำหนดประสบการณ์ของลูกค้า ถึงแม้ว่าเครื่องเสียงของ Studio Lam จะจัดอยู่ใน ประเภทออดิโอไฟล์แต่ตัวตนของเสียงที่ออกมานั้นจะถูกสื่อสารผ่านความดิบ ความดาร์ดตามคาแรก เตอร์ของร้าน
เข้าสู่ช่วงเวลาที่เล่าสู่กันฟัง มาฟต์ไซยืนยันกับผมหลายรอบว่า Studio Lam ไม่ได้เป็นเพียงแค่ไวนิลบาร์และเขาไม่อยากจำกัดพื้นที่นี้เป็นแค่ไวนิลบาร์ด้วย เพราะสำหรับเขา Studio Lam คือมิวสิคบาร์ไม่ว่าจะอยู่ในฟอร์แมตไหน เขาโอเคหมด เพลงคืออาหาร ของพวกนี้คือจานชามช้อน อาหารไม่อร่อยต่อให้เสิร์ฟยังไงก็ไม่อร่อย “ผมไม่ยึดติดว่ามันจะเป็นไวนิลหรืออะไร ตราบใดที่มันเป็นดนตรีที่น่าสนใจ”
______________________________________________________________________
Sugar Ray You’ve Just Been Poisoned
Sukhumvit 24
จากโรงบ่มไซรัปโฮมเมดกลายเป็นไวนิลบาร์ที่โตมากับคอนเซ็ปต์บาร์ลับ
บาร์สปีกอีซี่ร้านแรก ๆ ของเมืองไทย ถึงจะย้ายมาจากซอยแจ่มจันทร์มาอยู่ที่สุขุมวิท 24 คอนเซ็ปต์ บาร์ลับก็ยังตามมาเหมือนเดิม บอกเลยว่าถ้าไม่ใช่ขาประจำไม่มีทางรู้แน่นอนว่าทางเข้าร้านอยู่ตรงไหน ดีเจออฟเชอร์—มนต์ชัย ศรีจงใจ พาร์ทเนอร์ของร้านบอกว่าจุดนี้ไม่ได้ตั้งใจให้มันเป็นบาร์ลับตั้งแต่แรก ด้วยการตกแต่งร้านที่เน้นพื้นที่ความเป็นส่วนตัว มีเพียงแสงสว่างจากเทียนเล่มเล็ก ๆ อยู่บนโต๊ะที่พอให้เราสบสายตาให้กับผู้คนได้บ้าง ซึ่งกิมมิคตรงนี้มันก็มาสอดรับกับชื่อร้าน Sugar Ray You’ve Just Been Poisoned ดินแดนสนธยาที่ก้าวเท้าเข้ามาแล้วคุณอาจจะโดนวางยาโดยไม่รู้ตัว แต่เป็นยา (ดี) นะ เขากระซิบบอกผม “เคร่งขรึมดื่มไปนะ อย่าวอกแวก”
ปีนี้ทางร้านจะกลับมาเปิดเล่นแผ่นไวนิลเต็มรูปแบบอีกครั้งหลังจากมีการสลับสับเปลี่ยนฟอร์แมตไป บ้างก่อนหน้านี้ ทุกวันศุกร์และเสาร์จะมีดีเจมาเปิดแผ่นให้ฟัง โดยแนวเพลงของร้านนี้จะเป็นเออร์เบิน มิวสิค แจ๊ส โซล ฟังก์ ดิสโก้ ในฉบับสายแบล็ค มิวสิค
ออฟเชอร์เล่าให้ฟังต่อว่า ช่วงเริ่มจริง ๆ SR เองก็ยังไม่ได้ถือไวนิลบาร์ แต่ด้วยความชอบของเขาบวกกับที่ ตัวเองเป็นดีเจและ digger อยู่แล้ว จึงอยากให้ร้านมีความตัวตนของเขาอยู่ ก็เลยยกเทิร์นเทเบิลมาไว้ ก่อนที่มันจะทำหน้าที่เหมือนนางกวักเรียกดีเจมาวางแผ่นตั้งแต่นั้นเรื่อยมา
คอนเซ็ปต์บาร์ลับอาจจะเป็นแม่เหล็กดูดนักท่องราตรีให้เข้ามา แต่ ต่อ—วิภพ จินาพันธ์ หัวหน้าบาร์เท นเดอร์ที่นี่บอกว่ากระดูกสันหลังที่แท้จริงของ SR คือ ค็อกเทลรสดี โดยเจ้าตัวเน้นกับผมว่าเขาคัดสรร สปิริตทุกตัวที่จะเข้ามาวางบนชั้นเหมือนการสอบจอหงวนที่พิเศษกว่านั้นที่นี่ใช้ไซรัปโฮมเมดสูตรพิเศษ
เพื่อดำเนินบทสนทนาให้ล่องไหลดังสายน้ำ ผมจึงเอ่ยถามถึงแก้วโปรดของนักเล่นแร่แปรธาตุผู้นี้ สีหน้าของเขาดูหนักใจพอสมควรก่อนที่จะตอบกลับมาว่า “เหมือนถามว่ารักลูกคนไหนมากกว่ากัน”
สรุปเสร็จสรรพเบื้องหน้าของผมมีเครื่องดื่มผสมยาดีสองแก้ววางอยู่ แก้วแรกคือ Born & Raise เป็นจินผสมกับชาไทย แต่งรสด้วยส้มแมนดาริน น้ำเชื่อม ใบเตยและมะนาว รสชาติโดดเด่นชัดเจนสดใส เหมาะกับเป็นตัวเปิดบทสนทนาที่ดี ก่อนที่จะตามปิดดีลด้วย East Coast Bulavard ที่นำคัมพารีมาหมักกับเครื่องเทศอินเดียให้มีความสไปซี่ ใส่รัมและสวีท เวอร์มุธตามด้วยผิวของเกรปฟรุ๊ตที่ให้ความหนักแน่นในช่วงลำคอเมื่อระยะเวลาผ่านไป
ไม่รู้ว่าเพราะฤทธิ์ยาหรืออะไร เราคุยกันมาถึงหัวข้อว่า นิยามของตัวไวนิลบาร์จริงแล้วมันต้องเป็น อย่างไรกันแน่ ซึ่งออฟเชอร์บอกกับผมว่าแน่นอนว่าขึ้นชื่อว่าไวนิลบาร์ก็ต้องมีเล่นแผ่นเสียง แต่จะเล่นเป็น LP ที่เปิดแผ่นทิ้งไว้แล้วเดินมาเปลี่ยนหรือมีดีเจมาสลับแทร็คเรียบเรียงความสนุกให้ ทั้งสองอย่างก็สามารถพูดได้เต็มปากว่าเป็นไวนิลบาร์ได้เหมือนกัน
______________________________________________________________________
Strange Fruit
Thonglor 20 (Soi Chaem Chan)
ไวนิลบาร์สไตล์โฮมบอย บ้านเพื่อนที่เราจะไปบ่อยแค่ไหนก็ไม่มีเบื่อ
Strange Fruit เติบโตมาจากคอนเซ็ปต์ของสี่หุ้นส่วนที่เชื่อว่าตัวตนของแต่ละคนที่มีเอกลักษณ์ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นโต้ง Twopee—พิทวัส พฤกษกิจ เติร์ก—สิทธานต์ สงวนกุล ดีเจต๊อบ—ณภัทร เหล่าพลาย นาค และดีเจออฟเชอร์—มนต์ชัย ศรีจงใจ สิ่งของตกแต่งภายในร้านนั้นแต่ละชิ้นถูกหยิบมาจากบ้าน ของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นเทปเก่า ซีดีเก่า โปสเตอร์หนัง รถของเล่น ภาพวาดงานศิลปะที่เปรียบได้กับสีสันและความหลากหลายที่พวกเขาได้มารวมตัวกันจนเกิดเป็นเจ้าผลไม้ประหลาดนี้ขึ้นมา
อีกทั้งคำว่า Strange Fruit มันยังเป็นคำที่ที่มีความหมายและประวัติศาสตร์ในตัวเอง อย่างเหตุการณ์ที่ Kanye West เคยเอาคำนี้มาแต่งเพลงแล้วถูกวิพากษ์ประเด็นสังคมจนเกิดการตีแผ่เรื่องราวความหมายของคำนี้อีกครั้ง ในอดีตเคยมีคนดำถูกจับห้อยหัวลงมาแล้วสื่อก็เปรียบเปรยเป็นผลไม้ประหลาด ซึ่งออฟเชอร์บอกว่า Strange Fruit คำนี้มีความเป็นพวกเขาอยู่ ฉะนั้นแนวเพลงคงไม่ต้องสืบกันก็พอรู้ว่าหนักมาทางโซล อาร์แอนด์บี ฮิปฮอปโดยที่บาร์จะมีดีเจมาเล่นแผ่นเสียงทุกวันอังคารและพฤหัส
ที่นี่จะแบ่งเป็นสองโซน ถ้าใครอยากรับความเพลิดเพลินผ่านเสียงเพลงจากไวนิลก็สามารถจับจองที่นั่ง หน้าดีเจได้เลย หรือถ้าใครมากันเป็นกลุ่มกับเพื่อนอยากหามุมชิทแชทกันก็มีโซนที่เป็นห้องแยกไปในนั้นโดยมีมาสด้า บาร์เทนเดอร์ฝีมือร้ายกาจคอยดูแลเป็นอย่างดี
คอนเซ็ปต์ในเรื่องของแผ่นเสียงหรือเพลงฮิปฮอปก็ถูกผสมเข้าไปในเครื่องดื่มเช่นกัน อย่าง Dirty Hand มาจากมือที่เปื้อนฝุ่นตอนคุ้ยหาแผ่น หรือเมนูที่มีความเป็นฮิปฮอปอย่าง In Love With The Coco และ Round ’N’ Round (in my head) ก็มาจากแผ่นเสียงที่หมุนอยู่บนเทิร์นเทเบิลและล้อกับอาการหัวหมุนอยู่ตลอด นอนไม่หลับ เพราะเป็นเนโกรนีที่เติมความหนักด้วยเมล็ดกาแฟ รวมถึง Strange Me ค็อกเทลน้องใหม่ที่มีส่วนผสมหลักเป็นจินมาหมักกับดอกหอมหมื่นลี้โดยรสสัมผัสแรก อาจลวงหลอกเราว่ามีส่วนผสมของผลไม้อยู่ แต่จริง ๆ นั้นไม่มี
สำหรับผมนั้น Strange Fruit ถือเป็นไวนิลบาร์ที่มีคาแรกเตอร์ที่ชัดเจน ไม่ต้องพูดเยอะ แม้เครื่องดื่มจะไม่ซีเรียสเท่าที่อื่น แต่ก็มีชั้นเชิงและการเล่าเรื่องสนุกในฉบับเพื่อนผู้ชาย
______________________________________________________________________
Biscuit Bar & Restaurant
Soi Nana (Chinatown)
ไวนิลบาร์หลังเล็กสไตล์หว่องที่อบอวลไปด้วยอารมณ์แสงสีแห่งยุค ‘90s
ในย่านซอยนานาน้อยคนที่จะรู้ว่ามีไวนิลบาร์ที่บรรยากาศอบอุ่นเป็นกันเองซ่อนตัวอยู่ Biscuit คือบาร์ ขนาดย่อมที่สร้างความสนุกได้แบบมหาศาล ที่พิเศษกว่าที่อื่นบริเวณชั้นสองของบาร์เปิดเป็นร้านอาหารเมดิเตอร์เรเนียนฉบับดั้งเดิม (ที่ผมขอคอนเฟิร์มว่าอร่อยมากจริง ๆ )
ถ้าใครที่เป็นเซียนแผ่นเสียงก็อาจจะเดาได้ว่าชื่อ Biscuit มีที่มาจากอะไร ชื่อแสนน่ารักที่เตะตาคนเดิน ผ่านไปมานี้คือ ก้อนไวนิลกึ่งเหลวเมื่อถูกอัดด้วยความแรงจะกลายออกมาเป็นแผ่นไวนิลทรงกลมบาง อย่างที่เราคุ้นชิน บาร์นี้ก่อร่างสร้างตัวจากเพื่อนสนิทต่างสัญชาติสองคน ได้แก่ Ronny ดีเจชาวฝรั่งเศสที่พกประสบการณ์ 25 ปีกับการคลุกคลีอยู่กับดนตรีแนวเฮ้าส์ มิวสิคและ Jorge นายหัวชาวโปรตุกีสผู้รับหน้าที่สร้างสรรค์อาหารเมดิเตอร์เรเนียนจานเด็ดอยู่บนชั้นสองของร้าน แนวเพลงที่นี่ส่วนมากจะเป็น โซล ฟังก์และเฮ้าส์ มิวสิค
โครงสร้างและการตกแต่ง รอนนี่และจอร์จได้รับช่วงต่อตึกนี้จากเพื่อนโดยบังเอิญ ทั้งสองต้องการที่จะ รักษาสภาพเดิมให้คงไว้มากถึงมากที่สุด เพราะเขาต้องการให้บรรยากาศที่เคยเป็นมันยังคงอยู่ หาก คิดถึงบาร์ไทยยุค ‘90s ที่นี่เต็มไปด้วยบรรยากาศของช่วงเวลาเหล่านั้นลอยล่องอยู่ภายในร้าน เพราะตัวรอนนี่ประทับใจรูปแบบการจัดร้านของ Café de moc อดีตบาร์ดังพิกัดสี่แยกคอกวัวที่เด็กยุค ‘90s ต้องรู้จัก โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์บิ้วด์อินต่าง ๆ ที่รอนนี่นำมาปรับแต่งให้เข้ากับ Biscuit ซึ่งโต๊ะ เก้าอี้ แทบจะทุกชิ้นของร้านนั้นเป็นงานทำมือทั้งหมด
มาถึงคิวของฝ่ายสนับสนุนความบันเทิงผ่านเครื่องดื่ม อัลเฟรด บาร์เทนเดอร์จากมัณฑะเลย์ เขาได้ ทักทายผมด้วยเมนูขายดีอย่าง Amaretto Sour รสชาติสว่างวูบวาบ ต่อด้วยเมนู Smoked Pomegranate มาในสีที่สวยจากการสกัดดอกอัญชันพร้อมรสหวานของทับทิมที่ชวนให้เชื่อใจ ก่อนที่ลงตัวกับ Somshee ค็อกเทลที่ทำมาจากจินที่ไปหมักกับดอกมะลิและผสมความสนุกให้กับรสชาติด้วย น้ำกะทิ
ถ้าใครอยากมารับประสบการณ์ที่นี่อย่างเต็มรูปแบบตามคอนเซ็ปต์ของรอนนี่และจอร์จ แนะนำให้ขึ้นไปรับประทานอาหารเลิศรสข้างบนชั้นสองก่อน พอมีพลังวังชาเพิ่มขึ้นลงมาข้างล่างสั่งเครื่องดื่มเบา ๆ นั่งฟังดนตรีผ่านซาวด์ซิสเท็มระดับออดิโอไฟล์ (หรือใครจะเต้นผมก็มิอาจขัด เพราะโต๊ะที่นี่พับเก็บได้)
เมนูที่ห้ามพลาดได้แก่ Presunto com figos – ผลมะเดื่อสดกับแฮมอบแห้งกับครีมชีสโฮมเมดแบบดั้งเดิม Tarta a la tomate – ทาร์ตมัสตาร์ดมะเขือเทศสไตล์ฝรั่งเศส พร้อมแป้งพัฟเนยโรยด้วยขีสขูด และ Arroz de mariscos – ข้าวปรุงรสกับอาหารทะเลแบบสแปนิชหุงกับน้ำซุปมะเขือเทศ ที่ต้องใช้เวลาอย่างต่ำ 25 นาที ส่วนของหวานจะเป็น Mousse de chocolate – ดาร์ดช็อคโกแลตมูส เนื้อข้น ผสมรัมของไทยสุดหอม รู้ตัวอีกทีหมดแก้ว แต่ที่เห็นจะเด็ดดวงกว่านั้นทั้งรอนนี่และจอร์จมักหาเมนูใหม่ ๆ มาเปิดโลกแห่งอาหารเมดิเตอร์เรเนียนทั้งคาวและหวาน รับรองคุณภาพความอร่อยแบบต้นฉบับเหมือนเสียงเพลงที่ขับออกจากอนาล็อกเกียร์
ตอนเริ่มทำร้านรอนนี่สารภาพว่า ตัวเขาพยายามที่จะไม่ใช้คำนำหน้าคนที่มาเปิดแผ่นว่า ‘ดีเจ’ ส่วนตัว เขาอยากใช้คำว่า ‘ซีเลคเตอร์’ มากกว่า เพราะมันเป็นการเปิดพื้นที่ให้ใครก็ได้สามารถมาแชร์ ประสบการณ์หรือตัวตนของตัวเองมาเพลง ซึ่งคนพวกนี้เขาก็เป็นนักสะสมสุ้มเสียงที่ดีเช่นกัน เรื่องราว ตรงนี้เป็นสิ่งมัดใจลูกค้าขาประจำที่นี่ได้อย่างเหนียวแน่น ก่อนที่รอนนี่จะขอตัวลุกไปทำธุระต่อและในขณะที่ผมจะปิดบัญชีกับค็อกเทลที่อยู่ตรงหน้า เขาบอกกับผมว่า “คุณไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นเชฟเพื่อรับ รู้ถึงความอร่อยของอาหาร เช่นเดียวกันคุณไม่จำเป็นต้องเป็นดีเจเพื่อรับความสุขจากเสียงดนตรี”
______________________________________________________________________