FIRST STEPS INTO THE WORLD OF HI-FI

FIRST STEPS INTO THE WORLD OF HI-FI

การเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทางที่ตั้งใจนั้น ต้องมีการเริ่มต้นที่ดี ฉันใดก็ฉันนั้น การได้มาซึ่งเครื่องเสียงที่ตรงใจเรา ก็ต้องเริ่มจากการเรียนรู้และฝึกฝนอย่างถูกวิธี การที่ได้คลุกคลีกับเสียงดนตรี และมีโอกาสฟังเครื่องเสียงที่หลากหลาย เมื่อผ่านไปนานๆ เข้า “Trained ears” หรือ หูที่ได้รับการฝึกฝน จะเริ่มบอกเราได้ว่าเสียงอะไรที่ผิดปกติ มันเป็นผลพวงของการเรียนรู้และประสบการณ์ที่ต้องอาศัยความตั้งใจในการฟัง

เสียงดนตรีคือธรรมชาติอย่างหนึ่ง และสิ่งที่ระบบเครื่องเสียงต้องการที่จะไปให้ถึง ก็คือการมอบเสียงที่สมจริง ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เหมือนกับเราได้รับฟังดนตรีสดๆ เราจึงต้องรู้ว่าเครื่องดนตรีแต่ละชิ้น มีเสียงเป็นอย่างไร ความพอดีอยู่ที่ตรงไหน

 

 

ที่เราเกริ่นมาเช่นนี้ก็เพราะการเล่นเครื่องเสียงที่ดีนั้นมีความละเอียดในการฟังเป็นหัวใจ ต้องฝึกฝนด้วยการเปิดรับและฟังเสียงที่หลากหลาย ไม่ผิดหรอกที่คนเราจะซื้อเครื่องเสียงโดยผ่านการชี้แนะจากเพื่อน ผู้รู้ หรือคนขาย แต่สุดท้ายแล้ว การฟังด้วยหูของตัวคุณเองต่างหาก คือคำตอบสุดท้าย เพราะหูของตนเองเท่านั้นที่จะเป็นตัวกำหนดอรรถรสของเสียงที่ถูกขับออกจากลำโพงในห้องฟังเพลงของคุณ หาใช่ข้อความบนปกอัลบั้ม หรือคำโฆษณาชวนเชื่อ

อีกอย่างหนึ่ง การได้รับฟังแผ่นทดสอบทั้งหลายที่ได้ชื่อว่าเป็นแผ่นอ้างอิงนั้น ย่อมเป็นประสบการณ์ที่ดีอย่างหนึ่ง แต่คุณต้องถามใจตัวเองว่า สิ่งที่กำลังได้ยินอยู่ขณะนั้น ตรงกับความชอบของคุณจริงหรือ เพราะแผ่นทดสอบเหล่านั้นมีหน้าที่โชว์ศักยภาพของชุดเครื่องเสียง ซึ่งอาจทำให้คุณเคลิ้มตามไปได้ และมันก็อาจจะไม่ได้เป็นแผ่นที่คุณฟังในชีวิตประจำวันด้วยซ้ำ ดังนั้น เราแนะนำให้ทดสอบเครื่องด้วยแนวเพลงที่คุณชอบ หรือจะติดแผ่นส่วนตัวที่ชอบไปด้วยเลย น่าจะเป็นวิธีที่ทำให้คุณพบกับเครื่องที่ตรงกับใจที่สุดเรามาดู 4 องค์ประกอบที่ใช้ทดสอบศักยภาพของเครื่องเสียงว่ามีอะไรบ้าง


1.รสนิยมแนวเสียง

 

 

อันดับแรกเป็นเรื่องของรสนิยมแนวเสียง ถ้าเปรียบเป็นคนก็คือหน้าตาของคน มันคือสไตล์ของเสียงที่ถูกใจเรา เช่น ลำโพงบางคู่ให้เสียงออกมาทุ้ม บางตัวออกมาแหลม นี่เป็นตัวตัดสินด่านแรก เราต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าชอบแนวเสียงนั้นหรือไม่ โดยในแต่ละแนวเสียง ก็จะมีลำโพงรุ่นใกล้เคียงกันให้เปรียบเทียบ บางคนบอกว่าชอบเสียงแหลม แต่ในความแหลมนั้นก็ยังมีรายละเอียดที่ต้องฟังให้รู้ว่ามันตรงใจเราหรือไม่ เช่น เสียงแหลมที่ได้จากทวีตเตอร์โดมผ้า กับ โดมโลหะ ก็เปล่งเสียงแหลมออกมาได้แตกต่างกัน



                                                   2.รายละเอียดของเสียง





ต่อมาคือรายละเอียดของเสียง ในช่วงความถี่ของเสียงตั้งแต่ต่ำถึงสูง ยกตัวอย่าง หากชอบฟังเสียงร้องของศิลปินที่เป็นผู้หญิง ให้ลองฟังดูว่า เสียงที่ออกมามันกังวาน เปิดโล่งออกมาอย่างไร เสียงริมฝีปากที่เผยอออกของศิลปิน หันมาฟังเสียงกลองว่ามันมีความหนักแน่นสมจริงแค่ไหน หรือมันแค่ทึบๆ ด้านๆ หรือเสียงหัวค้อนในกลไกของเปียโน ไปจนถึงเสียงเบส ว่ามันออกมาห้วนๆ หรือมันลอยออกมาดีดดิ้นให้เราฟัง รายละเอียดของเสียงร้องและเครื่องดนตรีที่ออกมา จะบอกเราว่าเครื่องเสียงนั้นพาเรามาใกล้ความสมจริงมากน้อยเพียงใด


3.มิติของเสียง






ที่ลึกลงไปกว่ารายละเอียดของเสียงก็คือ มิติของเสียง หมายถึงตำแหน่งแห่งที่ของชิ้นดนตรีที่วางอยู่บนเวทีเมื่อได้นั่งตรงจุดนั่งฟังที่ดีที่สุด (Sweet Spot) จะสามารถระบุตำแหน่งของนักร้อง และนักดนตรีได้ทีละชิ้น มิติของเสียงเกิดจากความสมดุลของเสียงที่ออกมาจากลำโพงทั้งสองข้าง ถ้าเสียงหนึ่งเสียงดังออกมาจากลำโพงสองข้างเท่ากัน เราจะได้ยินเสียงนั้นอยู่ตรงกลางพอดี อันนี้เกิดจากการบันทึกเสียงว่าจงใจวางอะไรอยู่ จุดไหน โดยเสียงของชิ้นดนตรีที่เกิดขึ้นจะต้องคงที่นั้นๆ ด้วย เช่น หากว่าคนเป่าแซกโซโฟนยืนเยื้องไปด้านขวาของเวทีตอนที่บันทึก ลำโพงก็ต้องสามารถถ่ายทอดตำแหน่งเสียงเดิมนั้นออกมาได้ด้วยเช่นกัน มือกลองจะต้องนั่งเล่นอยู่ในตำแหน่งเดิม ไม่แกว่ง ไม่ย้ายที่ไปมา นั่นคือความเสถียรของเครื่องยังมีไม่พอในภาษาเครื่องเสียงคือ เครื่องเสียงชุดนั้นไม่สามารถตรึงเวทีเสียงได้อย่างนิ่งสนิท


4.ความลื่นไหลและจังหวะจะโคนของเสียง





และก็จะมาถึงส่วนที่จับสังเกตยากที่สุด และอาจใช้เวลาฝึกเป็นเวลานานกว่าจะฟังออก มันคือ ความลื่นไหลและจังหวะจะโคนของเสียง ซึ่งจะชัดมากโดยเฉพาะในเสียงร้อง ตั้งแต่การผ่อนลมหายใจ การทอดเสียง ไปจนถึงการเอื้อนเสียง จะเข้าจังหวะและท่วงทำนองมากน้อยขนาดไหนจะเผยให้ได้ยินก็ตรงนี้ ถ้าเครื่องกำลังไม่มีกำลังสำรองที่ดีพอ ก็จะส่งผลต่อเสียงที่ออกมา เช่น ความไม่ราบรื่นของเสียงเอื้อน จังหวะการผ่อนลมหายใจที่ไม่สม่ำเสมอ นึกภาพนักร้องที่มีปอดใหญ่กับปอดเล็ก ว่าใครจะสามารถให้พลังเสียงได้ไพเราะและเข้าถึงอารมณ์มากกว่ากัน

และนี่คือ 4 ข้อควรรู้ขั้นพื้นฐานสำหรับการเริ่มต้นเข้าสู่โลกของออดิโอไฟล์ ยังคงมีเรื่องราวของเครื่องและเสียงอีกมากมายที่ต้องเรียนรู้ เพื่อที่จะได้มาซึ่งเครื่องเสียงที่ถูกใจ ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยการฝึกฝน การเปิดรับสิ่งใหม่ๆ และหาโอกาสให้ตัวเองได้ไปฟังการแสดงดนตรีจริง ไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ต ออร์เคสตรา หรือแม้กระทั่งดนตรีสดตามสถานบันเทิงต่างๆ ล้วนเป็นการเสริมประสบการณ์ที่ดีอีกทางหนึ่ง เพราะคำว่า Hi-Fi ที่จริงก็คือคำว่า Hi-Fidelity ซึ่งมีความสมจริงเป็นจุดหมายปลายทาง อันหาได้จากเครื่องเสียงที่ดีนั่นเอง

Back to blog