ยินดีต้อนรับมือใหม่เล่นแผ่นเสียงทุกท่าน เข้าสู่วิชา Cartridge 101

ยินดีต้อนรับมือใหม่เล่นแผ่นเสียงทุกท่าน เข้าสู่วิชา Cartridge 101

ยินดีต้อนรับมือใหม่เล่นแผ่นเสียงทุกท่าน เข้าสู่วิชา Cartridge 101 ว่าด้วยเรื่องของหัวเข็มประเภทต่างๆที่มือใหม่ควรรู้ไว้เป็นข้อมูลในการเลือกแนวเสียงที่ถูกกับความชอบของตัวเอง
หัวเข็มของเครื่องเล่นแผ่นเสียงในส่วนของ Cartridge นั้นจะแบ่งได้เป็น4 ประเภท
1.Magnetic หรือ Moving Magnet (MM)
เป็นหัวเข็มที่นิยมใช้งานมากที่สุดในปัจจุบัน ราคาไม่แพงจึงมักเป็นหัวเข็มที่ติดมากับเครื่องแผ่นเสียง Entry Level ทั่วไป ดูแลรักษาไม่ยาก รวมถึงใช้ฟังเพลงได้ค่อนข้างหลากหลายแนว โครงสร้างของหัวเข็ม MM คือจะมีด้านที่เป็นปลายเข็ม และด้านตรงข้ามจะเป็นแม่เหล็กที่ล้อมด้านในกระเปาะ Cartridge ด้วยขดลวดทองแดง การทำงานคือเวลาแผ่นเสียงหมุนไป ด้านปลายเข็มจะขยับไปตามรอยขรุขระที่เป็นรายละเอียดของดนตรี ในร่องเสียง (Groove) เหมือนไม้กระดกในสนามเด็กเล่น ที่ด้านหนึ่งขยับ อีกด้านก็จะเคลื่อนไปในทิศทางตรงข้าม
และเมื่อแม่เหล็กเคลื่อนไหวใกล้กับแกนขดลวดทองแดงก็จะเกิดการเหนี่ยวนำเป็นกระแสไฟฟ้า และจะถูกส่งต่อออกไปยังภาคขยายเสียง
2.Moving Coil (MC)
ลักษณะการทำงานคล้ายกับ Moving Magnet เพียงแต่สลับกัน เอาขดลวดทองแดงมาอยู่บนปลายไม้ ขณะที่ในกระเปาะ Cartridge ด้านในมีแม่เหล็ก ข้อเสียของหัวเข็มแบบ MC คือราคาแพง รวมถึงมีความบอบบางสูงกว่า และให้สัญญาณค่อนข้างเบากว่าแบบ MM ทำให้ต้องใช้งานร่วมกับภาคขยายที่ออกแบบมาให้ใช้ด้วยกันโดยเฉพาะ
แต่สำหรับแฟนดนตรีคลาสสิค หรืออัลบั้มที่มีการบันทึกเสียงที่รายละเอียดเครื่องดนตรีหลายชิ้นและซับซ้อน ต่างยกให้หัวเข็มชนิดนี้เป็นสุดยอดของการถ่ายทอดรายละเอียดเครื่องดนตรีมากชิ้น เช่นวงออเคสตร้าได้ดีกว่าหัวเข็มชนิดอื่น
3.Ceramic (Piezo crystal-electric)
การทำงานคล้ายกับ 2 ข้อด้านบน แต่สัญญาณไฟฟ้าเกิดจากการเคลื่อนไหวของ Ceramic หรือ Crystal ที่อยู่ในกระเปาะ แทนที่จะเป็นแม่เหล็ก หรือขดลวดทองแดง เรามักจะพบหัวเข็มประเภทในในเครื่องเล่นแผ่นเสียง All-In-One ระดับเริ่มต้นที่เป็น Suitcase Turntable หน้าตาคล้ายประเป๋าหิ้ว ที่เป็นลำโพงแบบ Mono หรือเครื่องเล่นแผ่นเสียงวินเทจหลายๆรุ่นก็ใช้หัวเข็มแบบนี้ติดมากับ Tonearm เลยเช่นกัน เอกลักษณ์ของหัวเข็ม Ceramic คือให้เสียงเบสที่มาก ใช้ฟังเพลงสมัยใหม่ หรือที่รายละเอียดเครื่องดนตรีไม่มากนักได้ดี รวมทั้งอะไหล่ปลายเข็มไม่แพงหาง่าย จึงเห็นได้จากเครื่องเล่นรุ่นใหม่ราคาถูกที่มาพร้อมกับหัวเข็มแบบนี้ นอกจากนั้นสัญญาณจากหัวเข็ม Ceramic ยังแรงกว่าจำพวก Magnet มาก บางทีแค่เปิดให้เล่นแผ่นก็ได้ยินเสียงออกมาเบาๆเหมือนคนกระซิบ โดยที่ยังไม่ได้ต่อลำโพง
4.Capacitance (หรือแบบ FM Cartridge)
เป็นหัวเข็มที่เป็นที่นิยมในยุค 50’s เนื่องจากสมัยนั้นเชื่อว่าเป็นหัวเข็มที่ให้ความเที่ยงตรงของสัญญาณมากและช่วยถนอมแผ่นเพราะใช้หลักการทำงานด้วยการส่งสัญญาณ Frequency modulation
เป็นสัญญาณรูปแบบคลื่นวิทยุ ด้วยตัวภาคส่งใต้จานแผ่นเสียง (Platter) ไปสู่หัวเข็มที่ทำหน้าที่รับสัญญาณ แทนที่จะใช้การอ่านเสียงด้วยการพึ่งพาคุณภาพของหัวเข็มหัวเพียงอย่างเดียวเหมือนแบบอื่นๆ
จึงต้องการน้ำหนักการกด (Track Force) น้อยมาก คือประมาณ 1 กรัมเท่านั้น แม้ว่าหัวเข็ม MM สมัยใหม่รุ่นสูงๆ แรงกดก็ยังอยู่ที่ประมาณ 1.5-2 กรัม แต่เนื่องจากดูแลรักษายาก และมีข้อจำกัดเรื่องความยุ่งยากต่างๆของอะไหล่ รวมถึงต้องดูแลค่าความเสถียรของภาคส่งสัญญาณ จึงเสื่อมความนิยม
โดยปกติแล้ว หัวเข็มที่มักจะมีมาให้กับเครื่องเล่น Turntable Unit และ All-In-One ระดับเริ่มต้น-กลาง ทั่วไปในปัจจุบัน มักจะติดตั้งมากับหัวเข็มประเภท MM (นอกเสียจากว่าคุณจะเป็นนักสะสมของวิทเทจ หรือสาย Refurbish อาจจะได้เจอเข้ากับ FM Cartridge หรือ Ceramic)
เนื่องจากดูแลง่าย ราคาไม่สูง มีคาแรคเตอร์ที่ใช้งานได้กว้างกว่า ซึ่งกลไกทำให้เกิดเสียงจากแผ่นเสียงที่อยู่บนหัวเข็ม MM และ MC นั้นเกิดจากการที่ปลายด้านหัวเข็มของ Stylus ครูดไปกับร่องของแผ่นเสียง (Groove) ที่มีรายละเอียดสูงต่ำต่างๆ จากนั้นปลายอีกด้านหนึ่งซึ่งเป็นแม่เหล็กจะขยับในทิศทางตรงข้าม เกิดการเหนี่ยวนำสัญญาณส่งไปสู่ขดลวดที่อยู่ในกระเปาะ Cartridge แล้วแปลงการสั่นสะเทือนนั้นมาเป็นสัญญาณไฟฟ้า จึงส่งต่อไปยังภาคการขยายสัญญาณ (Phono PreAmp) ซึ่งความแรงของสัญญาณที่ถูกสร้างมาขี้นอยู่กับความเร็วของการตวัดไปมาของปลายเข็ม (Constant velocity) นั่นเอง
คนส่วนมากมักจริงจังกับระบบ System ของเครื่องเสียงหรือ Pre-Amp และระบบต่างๆ จนลืมนึกไปว่า ปลายเข็มคือปราการด่านแรก ที่รับรายละเอียดของดนตรีจากแผ่นเสียงโดยตรง เหมือนไมโครโฟนของนักร้อง ต่อให้นักร้องเสียงดี แต่ไมค์นั้นไม่สามารถเก็บย่านเสียงหรือรายละเอียดของเสียงร้องได้หมด หรือดีพอ ก็น่าเสียดาย
ถ้าคุณเป็นคนชอบฟังเพลงหลากหลายแนว แต่ขี้เกียจจุกจิกกับการเลือก หรือคอยเปลี่ยน Cartridge ตามแนวแผ่นที่เปิดฟัง อยากได้หัวเข็มราคาระดับกลาง แต่เก็บรายละเอียดของดนตรีจากแผ่นเสียงได้ดี
วันนี้จะพามารู้จักกับ Ortofon 2M RED หัวเข็มตัวท๊อปในระดับ Entry-Mid Level ที่สเปคค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับหัวเข็ม Entry Level ทั่วไป
2M RED มีราคาค่อนข้างจะสูง จึงมีเพียงแค่ไม่กี่แบรนด์และรุ่น ที่ติดตั้งหัวเข็มรุ่นนี้มาให้เลยจากโรงงาน ซึ่งจุดเด่นที่เห็นได้ชัดเจนทำให้ 2M RED แตกต่างจาก หัวเข็มประเภท MM ด้วยกันคือ ปลายเข็มของ 2M RED เป็นแบบ Diamond แบบ Ecliptical ซึ่งปลายจะเป็นหน้าตัดวงรี มีทั้งด้านกว้าง และอีกฝั่งหนึ่งแหลมแคบต่างจาก MM ทั่วไปซึ่งมักจะเป็นทรง Conical-Spherical ที่ปลายจะทู่ๆ โค้งมนทำให้มีข้อจำกัดในการเกาะร่องเสียงบนแผ่น รวมถึงกวาดรายละเอียดเล็กๆน้อยๆของเครื่องดนตรีได้ไม่ครบ
แต่ Ecliptical นั้นจะมีหน้าตัด2ด้าน ด้านที่เล็กมีหน้าที่เกาะร่องเสียง และด้านที่กว้างกว่ารับเอารายละเอียดย่านเสียงต่างๆ จากร่องเสียงทั้ง2ฝั่ง (Right-Left Channels of Wave Groove) ได้ดีเป็นพิเศษ
ให้ย่านเสียงสูงเคลียร์ สะอาดชัด แต่ไม่ทำให้ฟังแล้วบาดหู หรือที่เรียกกันว่าอาการหูล้า เบสอาจไม่เยอะ แต่ค่อนข้างชัด และกระชับ โดยรวมให้คาแรคเตอร์เสียงค่อนข้างโมเดิร์น
นอกจากหน้าตา และสีแดงที่สวยโดดเด่นแล้ว ยังสามารถอัพเกรดเฉพาะหัวเข็มไปยังรุ่นที่สูงกว่าเช่น 2M BLUE โดยการเปลี่ยนเฉพาะปลายเข็ม Stylus เท่านั้น
สรุปแล้ว ความชอบ หรือความรู้สึกต่างๆทั้งหมดนั้นก็ขึ้นอยู่กับจริตของคนฟังแต่ละคน วิธีการแก้ปัญหาแบบกำปั้นทุบดิน คือมี Cartridge และหัวเข็มที่คุณชอบซัก 2-3 แบบเอาไว้สลับใช้งานตามแนวเพลงที่ฟัง แต่จะให้ดีถ้าเป็น Best Budget Cartridge มากับ Spec สูงซักหน่อย ที่สลับใช้งานโดยเปลี่ยนหรืออัพเกรดแค่ปลายเข็มได้ ก็จะเป็นตัวเลือกที่สะดวก และประหยัดงบไปได้มาก
Back to blog