‘เบิร์ด กะ ฮาร์ท’ กับสัญญาใจต่ออัลบั้ม ‘ห่างไกล’ ที่ยังไม่เคยเปลี่ยนมาเกือบสี่ทศวรรษ

‘เบิร์ด กะ ฮาร์ท’ กับสัญญาใจต่ออัลบั้ม ‘ห่างไกล’ ที่ยังไม่เคยเปลี่ยนมาเกือบสี่ทศวรรษ

เสียงดีขออาสานำคุณผู้ฟังกลับไปยังนครลอสแอนเจลิส ปี 2528 ที่รวมทุกเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นกับ 'เบิร์ด กะ ฮาร์ท' และได้เปลี่ยนชีวิตพวกเขาไปตลอดกาล

ลืมแล้วใยเจ้าเอย ก่อนเราเคยสัญญา... นับตั้งแต่เสียงร้องที่ขึ้นจมูกของฮาร์ท สุทธิพงศ์ ทัดพิทักษ์กุล และสำเนียงเสน่ห์ของเบิร์ด กุลพงศ์ บุนนาคในวัย 21 ปี และ 22 ปี ตามลำดับ ได้ขับกล่อมจิตใจกลุ่มนักฟังเพลงไทยผ่านอัลบั้มห่างไกล ผลงานชุดแรกของพวกเขาในปี พ.ศ. 2528 ด้วยทำนองดนตรีที่ฟังง่ายและเสียงร้องมากเอกลักษณ์ ผสมกับเนื้อร้องที่กินใจในชนิดที่ว่าหลับตาแล้วเห็นภาพเป็นฉากร้อยเรียงต่อกัน ที่ส่งผลให้พวกเขาแจ้งเกิดได้สำเร็จภายในปีเดียวกันนั้น และเป็นศิลปินวงแรกที่ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ก่อนภายหลังอัลบั้ม ‘ห่างไกล’ จะถูกยกให้เป็นหนึ่งในผลงานระดับเบญจภาคีประดับวงการดนตรีของเมืองไทย

นอกจากเรื่องงานดนตรีแล้ว ตัวตนของทั้งคู่ก็ยังมีเอกลักษณ์ความเป็นธรรมชาติไม่ปรุงแต่งทำให้มีแฟนเพลงติดตามเหนียวแน่นจนถึงปัจจุบันและเป็นไอคอนของนักดนตรีไทยหลายคนในฐานะศิลปินอินดี้รุ่นบุกเบิก ร้องเอง แต่งเอง แถมแนวคิดของทั้งสองยังมีการท้าทายขนบความคิดของสังคมไทยที่มีต่ออาชีพนักดนตรีในสมัยนั้น เพราะตัวเบิร์ดกะฮาร์ทต่างพิสูจน์ได้ว่าแม้จะอยู่ในช่วงวัยเรียนที่ต้องทำงานวันหยุดเลี้ยงชีพไปด้วยก็สามารถที่จะทำงานดนตรีควบคู่ไปได้ตลอดรอดฝั่ง

คนสำคัญ

อัลบั้มห่างไกลจะเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจากคืนวันและแรงบันดาลใจต่างๆ ที่เป็นประสบการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่เข้ามาแวะเวียนในชีวิตของทั้งสองคน ท้ายสุดทั้งคู่ได้กลั่นมันออกมาเป็นเนื้อร้องและทำนองของบทเพลงอันน่าจดจำ และที่จะดูว่าเป็นจิ๊กซอว์สำคัญของตำนานบทนี้ก็คือ บรรดาบุคคลเบื้องหลังที่คอยซัพพอร์ตและช่วยเหลือศิลปินหนุ่มสองคนนี้ในขณะเวลานั้น

ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนรุ่นพี่อย่างสืบศักดิ์ คลังมนตรี อดีตมือเบสวงมัมมี่ ญาติฝั่งแม่ของเบิร์ด ผู้เป็นคีย์แมนในการทาบทามดูโอ้ที่เกิดวันเดียวกันให้มาฟอร์มวงดนตรีเล่นในงานเทศกาลไทยในแคลิฟอร์เนียด้วยกัน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ทำให้เบิร์ดกับฮาร์ทได้เจอกัน

โจ๋ จ๋ำ อดีตมือเบสและมือกลองวง System 4 สองพี่น้องที่เรียกว่าได้ว่าเป็นสมาชิกวงรุ่นก่อตั้ง ทั้ง 4 เคยฟอร์มวงโคฟเวอร์ตามคำแนะนำของรุ่นพี่อย่างสืบศักดิ์ ก่อนที่จะเบิร์ดกะฮาร์ทจะสร้างชื่อในภายหลัง และบ้านของโจ๋กับจ๋ำยังเป็นห้องซ้อมที่บรรจุความทรงจำไว้มากมายอีกด้วย มิหนำซ้ำเพลงดังหลายเพลงในอัลบั้มห่างไกล ก็มีส่วนร่วมของทั้งสองอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะเพลง ‘ห่างไกล’

พี่อ๋อย วิภาวี ประสงค์ อดีตดีเจค่ายไนท์สปอตที่ทำงานร้านอาหารไทย ทอมมี่ แทงค์ ร้านเดียวกับเบิร์ดในตอนนั้น คือผู้ที่แนะนำให้เบิร์ดกะฮาร์ทส่งเดโม่ไปยังค่ายไนท์สปอตเมื่อรู้ว่าสองหนุ่มเริ่มทำเพลงออริจินัลของตัวเอง

แม้ทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะเป็นปัจจัยสำคัญมากกับการกำเนิดเบิร์ดกะฮาร์ท แต่ทุกอย่างจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากการตัดสินใจครั้งสำคัญของเบิร์ดในครั้งนั้น

การตัดสินใจครั้งใหญ่

หลังจากที่ได้มานัดเจอกันในคืนวันศุกร์และวันเสาร์ของทุกสัปดาห์ภายใต้คำเชิญชวนของพี่สืบศักดิ์ โดยบทบาทมือกีต้าร์เป็นของเบิร์ด ฮาร์ทเล่นเปียโน โจ๋เล่นเบส จ๋ำคุมกลอง ช่วงนั้นเพลงอย่าง You May Be Right - Billy Joel และ Easy - The Commodores กำลังดังและเบิร์ดได้รับหน้าที่ให้เป็นเป็นคนแกะเพลงมาซ้อม ซึ่งในส่วนของพาร์ทกีต้าร์ที่มีหน้าที่สำคัญในการเป็นตัวเอกเดินเรื่องของบทเพลงเหล่านี้อย่างยิ่ง พอเวลาผ่านไปสักระยะความจริงของเบิร์ดก็ได้ถูกเปิดเผย

ฮาร์ท: ซ้อมครั้งแล้วครั้งเล่าไม่เคยสำเร็จเพราะส่วนหนึ่งเบิร์ด มายอมรับทีหลังนะครับว่าเขาไม่เก่งพอที่จะสามารถเล่นกีต้าร์ให้เหมือนกับต้นฉบับ แต่สิ่งที่เขาทำชดเชยให้กับสิ่งที่เขาทำไม่ได้คือเขาแต่งเพลง พูดง่ายๆ ว่าแกะเพลงไม่เหมือนเดี๋ยวแต่งเองเลย

เรียกได้ว่าเบิร์ดพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้อย่างทันท่วงที หากจินตนาการนึกย้อนไปในช่วงเวลาท่ามกลางยุคแปดศูนย์ การแต่งเพลงหรือมีเพลงเป็นของตนเอง และได้เล่นให้คนหมู่มากฟังมันโก้ขนาดไหน ในภายหลังการแต่งเพลงถือเป็นพรสวรรค์ที่เพิ่งถูกค้นพบของเบิร์ดเลยก็ว่าได้

เบิร์ด: ขอเล่าเสริมนิดนึงว่าในยุคนั้น ในวัยนั้นเด็กที่เรียนอยู่ที่ไฮสคูลในอเมริกาเนี่ย ความเท่ของการเล่นดนตรีเนี่ยมันไม่ใช่การเล่นเหมือน แต่มันเป็นการที่มีเพลงเป็นของตัวเอง ฉะนั้นเราเองอยู่ไฮสคูล (ฮอลลีวูด ไฮสคูล) มันก็จะมีวงที่มาเล่นตอนกลางวัน แล้วพยายามที่จะให้เด็กไฮสคูลเนี่ย ตามไปดูตามผับต่างๆ เช่น สตาร์วูดส์ หรืออะไรพวกนี้

ฮาร์ท: หลังจากที่เราพยายามจะฟอร์มวงเล่นเพลงคนอื่นแล้วโคฟเวอร์ให้เหมือนต้นฉบับไม่เป็นผลสำเร็จแล้วเนี่ย ผมกับเบิร์ดก็มานั่งคุยกัน แล้วเบิร์ดเขาก็เล่นเพลงเพลงนึงที่เขาแต่งกับเพื่อนเขาอีกคนนึงชื่อพี่ติ่งให้ผมฟัง ไอ้จุดตรงนี้แหละที่มันเป็นจุดพลิกผัน ทำให้มีเบิร์ดกะฮาร์ทในวันนี้ คือถ้าวันนั้นเบิร์ดเล่นกีต้าร์เก่งกว่าที่เขาเล่นสักเล็กน้อย อาจจะไม่มีเบิร์ดกะฮาร์ทในวันนี้ จากวันนั้นผมกับเบิร์ดอาจจะเป็น เดอะ เบส โคฟเวอร์ แบนด์ อิน ลอสแอนเจลิสก็ได้

แรงขับอีกหนึ่งอย่างที่ทำให้วงดนตรีเด็กหนุ่มไทยที่เคยตั้งใจจะเป็นวงโคฟเวอร์ที่เก่งที่สุดในแอลเอ ล้มเลิกแผนการนั้นซะและหันมาแต่งเพลงของตัวเอง คือการที่พวกเขาได้เห็นและได้ฟังเพลงของศิลปินไทยที่ถูกส่งมาขายในไทยทาวน์ให้คนไกลบ้านได้ทันกระแสและเข้าใจภาษาดนตรีที่บ้านเกิดตนเอง

เบิร์ดบอกกับเราว่าเขาไม่มีทางรู้จริงๆ ว่าเทปคาสเซตที่หยิบมาอย่างวง ‘คีรีบูน’ ‘ดิ อินโนเซ้นท์’ และ ‘ฟอร์เอฟเวอร์’ ชื่อของศิลปินเหล่านี้จะดังแค่ไหนในเมืองไทย พอเมื่อเห็นเด็กหนุ่มรุ่นเดียวกันมีผลงานออกมาจับต้องได้ ความฝันของเบิร์ดกะฮาร์ทก่อเริ่มก่อตัวขึ้นบวกกับแรงประสานจากคำชมของเพื่อนๆ ในเวลาที่เขาทั้งสองซ้อมเพลงที่แต่งเองให้ฟัง

จีชาร์ปไมเนอร์ คอร์ดเปลี่ยนชีวิต

ดูเผินๆ อาจจะมองว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นต่อไปนี้กับเพลงที่ชื่อ ‘อาลัยเธอ’ จะเหมือนเป็นโชคชะตา แต่เอาเข้าจริงทุกอย่างถูกกำหนดและคิดมาแล้วจากเบิร์ด

ฮาร์ท: กลับมาในวันนั้นที่เบิร์ดบอกว่า เฮ้ยเราแกะไม่เหมือนว่ะ เล่นไม่ได้แต่เราแต่งเพลงได้ แล้วเขาก็เล่นเพลงนั้นให้ผมฟัง เพลงนั้นคือเพลง ‘อาลัยเธอ’ ต่อมาผมกับเบิร์ดเอาเพลงนั้นมาใส่ในอัลบั้มห่างไกล อันนี้น่าจะถือว่าเป็นต้นกำเนิดเลยของอัลบั้มห่างไกล แล้วก็มาเป็นเบิร์ดกะฮาร์ท เบิร์ดเล่นให้ฟังเนี่ย ‘เปล่าเปลี่ยวดวงใจ อาลัยเธ้อ...’ แล้วเขาก็เล่นกีต้าร์ให้ผมฟังด้วยนะในแบบที่เขาเล่น คือต้องยอมรับว่าเบิร์ดเนี่ยเขามีความรู้ความสามารถทางด้านดนตรีในระดับนึง อันนี้ต้องพูดกันโดยไม่เกรงใจนะ 

เบิร์ด: เออ มึงเก่งกว่ากู (ยิ้มมุมปาก)

ฮาร์ท: ที่นี้พอผมฟังเบิร์ดเล่นเพลงเปล่าเปลี่ยวดวงใจอาลัยเธอ ผมรู้สึกทึ่งเลยว่า โห ไอ้นี้มันล้ำ เพราะเพลง ‘อาลัยเธอ’ ที่พี่เบิร์ดกับพี่ติ่งแต่งเนี่ย มันเป็นเพลงอยู่ในคีย์อีนะ แต่เวลาเริ่มเล่นเขาไม่ได้เล่นคีย์อี เขาเข้ามาในโทนไมเนอร์เลย ‘เปล่าเปลี่ยวดวงใจอาลัยเธ้อ...’ คอร์ดถ้าผมจำไม่ผิดนะ จีชาร์ปไมเนอร์ ซึ่งมันประหลาดสำหรับผมคือว่า ยูเล่นในคีย์อีก็ต้องเริ่มคอร์ดอีหรือไม่หรือถ้ามันเป็นไมเนอร์โหมดก็ต้องเล่นซีชาร์ปไมเนอร์ แต่ไอ้นี่โผล่มา ‘เปล่าเปลี่ยวด้วยใจอาลัยเธ้อ' แล้วทำนองมันเพราะนะ ‘เคยรักเคยอยู่แสนสดใส เคยยิ้มเคยหยอกหลอกล้อกันไป’ แต่เขาเล่นคอร์ดไม่ได้เพราะนะครับ แต่ผมได้ยินคอร์ดในหัวเลยว่าโอ้โหเพลงนี้แม่งเพราะว่ะ นี่ถ้าเราใส่คอร์ดตรงนี้สักนิดตรงนั้นสักหน่อย

เพลงอาลัยเธอเป็นบทเพลงที่เบิร์ดแต่งร่วมกับพี่ติ่ง โดยได้รับแรงบันดาลใจมากจากเรื่องราวของพี่ชายที่เพิ่งแยกทางกับภรรยา

อาลัยเธอ-ลืม

ในช่วงแรกๆ ทั้งสองคนยังไม่กล้าเล่าความในใจกันอย่างตรงไปตรงมา ตามประสาผู้ชายที่กำลังอยู่ในวัยหนุ่มทั้งคู่ ฮาร์ทยอมรับว่าในช่วงนั้นเป็นฝั่งเขาเองที่เก็บความรู้สึกบางอย่างไว้ในใจหลังจากที่รู้ว่าเบิร์ดสามารถแต่งเพลงได้ดี ในใจหนึ่งก็นึกชื่นชมกับผลงาน อีกใจหนึ่งก็แอบรู้สึกอิจฉา ซึ่งใครจะมารู้ว่าเพราะสาเหตุนี้จึงทำให้เกิดเพลงที่อยู่ในความทรงจำของทุกคน... อย่างนี้สินะที่เขาเรียกว่าแข่งกันเองจนได้ดี

ฮาร์ท: จากเดิมที่ผมเคยคิดว่าผมจะต้องแกะเพลงให้เหมือน ต้องเล่นให้เหมือน ต้องเป็น Billy Joel ต้องเป็น Paul Simon ผมเปลี่ยนไดเรกชั่นเลยว่าเราต้องมีเพลงของเราที่ยิ่งกว่าเพลง ‘อาลัยเธอ’ จากนั้นผมก็เลยไปแต่งเพลง หนึ่งในเพลงที่ผมแต่งก็คือเพลง ‘ลืมแล้วใยเจ้าเอย' ซึ่งจริงๆ ถ้ามาวิเคราะห์มันจะมีอะไรหลายอย่างในเพลง ‘ลืม’ ที่คล้ายกับ ‘อาลัยเธอ’ ผมไม่ได้บอกมันนะ (ขำทั้งคู่)

เนี่ยพอมันเริ่มมาอย่างงี้ปุ๊ป เบิร์ดบอกเฮ้ย กูไม่ได้มีเพลงเดียวนะ กูมีอีกหลายเพลง ก็เล่นให้ฟัง (ร้องพร้อมกัน) ‘จากกันมานานแสนนาน' แล้วก็เพลง ‘มาร่าเริงกัน สุขสันต์ด้วยเสียงเพลง’ แล้วก็มีเพลง ‘อยากรู้ใจทำไมรักเธอ’ ผมก็โหเพลงมันเยอะนี่หว่า

สำหรับเพลง ‘ลืม’ เป็นการนำเรื่องที่ฮาร์ทได้ประสบการณ์ทางใจกับหญิงสาวที่ชื่อ Susan Joan โดยภายหลังก็มีการแต่งอีกเพลงที่ชื่อ ‘Susan Joan’ โดยเฉพาะ

ฮาร์ท: ผมก็เลยไปแต่งอีก แต่งเพลง Susan Joan แต่งเพลง ‘คิดถึง’ (ร้องพร้อมกัน) ‘ใจยังคงใฝ่ฝัน' อันนี้พี่ติ่งแต่งแล้วผมมาแต่งต่อ แล้วก็เพลง ‘รักนอกใจ’ (ร้องพร้อมกัน) ‘ใคร ๆ ก็รู้ว่าคุณมีแฟน’ ส่วนใหญ่เพลงพวกนี้เป็นเพลงช้า

แล้วก็ในระหว่างที่ผมกับเบิร์ดเนี่ยได้แลกเปลี่ยนเพลงกัน โจ๋ก็เอาเทปคาสเซตม้วนนึงมาให้ผมฟังเป็นเพลงที่ญาติเขาชื่อโอ่ง อายุมากกว่าผมกับเบิร์ดเราเลยเรียกเขาว่าพี่โอ่ง (โรจนกฤษณ์ เลขะวณิช) พี่โอ่งญาติโจ๋เนี่ยเล่นไว้ เป็นเพลงจังหวะบอสซาโนว่า ชื่อ ‘ห่างไกล’ (ร้องพร้อมกัน) ‘ห่างไกล กายห่างไปใจถึงเธอ’ ผมฟังเพลงนี้แล้วผมรู้สึกว่าเฮ้ย เพราะ โจ๋เราขอเพลงนี้ไปทำนะ

เบิร์ด: แชร์กันน่ะ ใครแต่งเพลงได้ดีเราก็ชื่นชม แล้วก็ไม่มีใครหวงเพลงกันหรอก เออเอาไปดิ เพราะว่าไม่มีใครเป็นนักแต่งเพลงมืออาชีพ ทุกคนแต่งเพลงเพราะว่าอยู่อเมริกาเหงา ห่างไกล ก็จะแต่งอะไรอย่างนี้

นอกจากเพลง ‘อาลัยเธอ’ ‘ลืม’ ‘รักนอกใจ’ ‘Susan Joan’ ‘ห่างไกล’ สำหรับอัลบั้มห่างไกลก็จะมีเพลงที่ช่วยบรรเทาความเหงาอย่าง ‘คิดถึง ll’ ‘คิดถึง l’ ‘สนุก’ ‘เพ้อ’ และ ‘ไม่ลืม’

หมุดหมายแห่งวงการเพลงไทยของยุค ‘80s

เป็นเวลาเกือบสี่ทศวรรษที่บทเพลงดั่งบทกวีที่พวกเขาได้ปั้นแต่งขึ้นมานั้น ยังก้องกังวานอยู่ในโลกแห่งวงการเพลงไทย ซึ่งนับเป็นผลงานชั้นครูที่ศิลปินรุ่นน้องที่เติบโตในช่วงปี ’85-’95 ต่างศึกษาและนำไปปรับใช้ในเวลาต่อมา มีวงดนตรีไม่น้อยที่ได้รับอิทธิพลจากดูโอ้คู่นี้ เช่น ‘P.O.P’ ‘Moderndog’ ‘Blackhead’ หรือถ้าใหม่ขึ้นมาหน่อยก็อย่างวง ‘ETC.’ รวมถึงแม้แต่อดีตผู้บริหารและหนึ่งในผู้ก่อตั้งเบเกอรี่ มิวสิค อย่างบอย โกสิยพงษ์ ที่ในคอนเสิร์ต RHYTHM & BOYd เมื่อสามปีที่แล้ว เขาได้เชิญศิลปินดูโอ้ในดวงใจขึ้นไปขับร้องเพลงลืมและเพลงฝนอีกด้วย

เบิร์ด: ในสมัยนั้นปี ’85-’95 เราไม่ได้รู้สึกอะไรมากมายนอกเหนือจากชุดหนึ่งชุดที่ได้รับความนิยม แต่จากปี '95 จนถึงตอน '10 ปี เบิร์ดกะฮาร์ท' มันกลายเป็นเหมือนไมล์สโตนของยุคเอทตี้ในแง่ของวงการเพลงไทย

ฮาร์ท: หนึ่งในศิลปินที่ผมรู้จักแล้วผมก็ทราบทีหลังว่าเขาชอบเบิร์ดกะฮาร์ท แล้วเบิร์ดกะฮาร์ททำให้เขาเปลี่ยนไดเรกชั่นในการใช้ชีวิตเลย หนึ่งในนั้นก็คือบอย โกสิยพงษ์ เขาบอกว่าเขาโตมากับเพลงชุดห่างไกล แล้วก็ชุดด้วยใจรักจริง เพลง Goodbye Song แทบจะแบบอยู่ในทุกความทรงจำของเขาเลย ผมเล่นเพลงนี้ให้เขาฟังเขายังรู้เลยว่าตรงนี้เล่นไม่เหมือน เขารู้ว่าต้นฉบับไม่ได้เล่นอย่างนี้

สัญญาใจที่ไม่เปลี่ยนแปลงต่ออัลบั้ม 'ห่างไกล'

แน่นอนว่าในแง่ของเกียรติยศและความศักดิ์สิทธิ์ของอัลบั้มห่างไกลในทุกวันนี้จะไม่ต้องพิสูจน์อะไรกันอีกแล้ว แต่น้อยคนที่จะทราบว่าในทุกขณะของเบิร์ดกะฮาร์ท โดยเฉพาะรายหลังนั้น เขาบอกความในใจว่า นับตั้งแต่วันที่บันทึกเพลงเสร็จทุกอย่างจบเรียบร้อยในห้องอัดฟิดเลอร์ส รีคอร์ดดิ้งสตูดิโอในลอสแอนเจลิส ฮาร์ทรู้ดีว่าความรู้สึกข้างในลึกๆ ของตัวเขาเองยังไม่จบไปด้วย เขารู้มาตลอดว่าหากเขามีเวลามากกว่านี้จะสามารถทำให้อัลบั้มห่างไกลออกมาสมบูรณ์แบบกว่านี้ได้แน่

จนผ่านมา 36 ปี ความตั้งใจที่อยากสร้างสรรค์งานชิ้นเดิมของพวกเขาอีกครั้งยังไม่เคยเปลี่ยน เพื่อสานต่อสัญญาที่ให้กับตัวเองเสมอมาว่าหากมีโอกาสจะต้องกลับไปทำมัน ในวันนี้ทั้งคู่ได้มีโอกาสรักษาคำมั่นที่เคยให้ไว้กับตัวเองแล้วกับ ‘อัลบั้มห่างไกล The Remix’

สำหรับแฟนเพลงอันเป็นที่รักยิ่งทุกคน วันนี้คุณมีโอกาสที่จะเก็บบทเพลงแห่งความทรงจำ เสียงดนตรีที่เป็นฉากสำคัญในชีวิตของคุณ ทั้งในช่วงเวลาทั้งเศร้าและสุขคลุกเคล้าตามนิยามของคำว่า ชีวิต พบกับอัลบั้มห่างไกล The Remix ในรูปแบบแผ่นเสียง ที่เบิร์ดกะฮาร์ทหยิบนำเทปรีลต้นฉบับ 24-track มาปัดฝุ่นใหม่โดยผ่านการมิกซ์ดาวน์จากโอ๊ต ชุติภัทร์ เธียไพรัตน์ แห่ง Madpuppet Studio ก่อนที่จะส่งไปให้พ่อมดแห่งวงการรีมาสเตอร์ริ่งอย่าง Bernie Grundman เป็นผู้รีมาสเตอร์และเลกเกอร์คัต เป็นเจ้าของแผ่นเสียงคุณภาพชิ้นนี้กันได้แล้วที่นี่ 

Back to blog