10 แผ่นเสียงที่บันทึกเสียงดีที่สุดตลอดกาลจาก Audiophile ตัวจริง

10 แผ่นเสียงที่บันทึกเสียงดีที่สุดตลอดกาลจาก Audiophile ตัวจริง

 

Audiophile ทุกคนล้วนมีฐานมาจากการเป็น Music Lover

Story Advised by Vudhigorn Suriyachantananont
Audiophile Connoisseur

 

ขอแนะนำให้ผู้อ่านรู้จักกับคุณวุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ ออดิโอไฟล์ตัวจริงผู้นี้อีกสักครั้ง เขาคือนักเล่นระบบเครื่องเสียง และเครื่องเล่นแผ่นเสียง ผู้คร่ำหวอดและเป็นที่ยอมรับในวงการเครื่องเสียงของเมืองไทย ในโอกาสนี้คุณวุฒิกรจะหยิบแผ่นเสียงที่บันทึกเสียงดีที่เยี่ยมยอดที่สุดในใจของเขามาเล่าสู่กันฟัง

แต่ก่อนจะไปพบกับลิสต์อัลบั้มที่เตรียมมา จำเป็นอย่างมากที่เราจะต้องเข้าใจถึงคำว่า ‘Audiophile’ ในมุมเดียวกันก่อน มักมีคำกล่าวหนึ่งของ Alan Parsons นักแต่งเพลงและโปรดิวเซอร์ที่มีผลงานระดับอมตะอย่าง The Dark Side of The Moon อัลบั้มสุดฮิตของ Pink Floyd และกับ The Beatles ในอัลบั้ม Abbey Road และ Let It Be ที่คุณวุฒิกรมักจะยกมาอธิบายตัวตนของเขาในโลกออดิโอไฟล์ “ออดิไฟล์เขาไม่สนใจหรอกว่าเพลงที่พวกคุณทำมันจะดีหรือดังแค่ไหนพวกเขาสนใจแค่ว่าเสียงที่ออกมาจากชุดเครื่องเสียงของเขามันดีพอรึยัง” 

คำกล่าวด้านบนเป็นจริงไม่น้อย และเป็นถ้อยคำที่ช่วยให้เห็นภาพได้ชัดเจนเลยทีเดียวสำหรับใครที่ยังสับสนว่าจริง ๆ แล้วชาวออดิโอไฟล์นั้นมีนิสัยการฟังเพลงอย่างไร ใช่ครับ พวกเขาใช้แผ่นเสียงที่บันทึกดีเยี่ยมตามคำบอกจากหลายสถาบัน มาตกแต่งและตรวจสอบชุดเครื่องเสียงของพวกเขา ไล่ฟังมิติตั้งแต่ล่างขึ้นบน จัดเวที หาช่องไฟของชิ้นดนตรี

อีกเรื่องที่คุณวุฒิกรอยากจะถ่ายทอดให้เราฟังก่อนที่จะเริ่มวางแผ่นเสียงที่เขาคัดมาบนเทิร์นเทเบิล คือเรื่องของชาวออดิโอไฟล์บางกลุ่มที่คอยจะตัดขาดตนจากกลุ่มคนชอบฟังเพลงหรือที่เรียกอีกอย่างว่ามิวสิค เลิฟเวอร์ ด้วยนานาเหตุผลแต่ข้อหลักก็คือความแตกต่างของคุณภาพเสียงที่ชาวออดิโอไฟล์เลือกฟัง ที่ทำให้พวกนักเล่นเครื่องเสียงทั้งหลายชอบแผ่นเสียงที่บันทึกดีเยี่ยม ที่บางครั้งแผ่นพวกนั้นก็ไม่ใช่เพลงที่เพราะ ซึ่งนับวัน ๆ ชาวหูทิพย์เหล่านี้ก็ค่อย ๆ ตีตัวออกห่างราวกับตนไม่เคยผ่านจุดนั้นมาก่อน จุดที่ทำให้พวกเขาหลงรักในเสียงเพลง คำถามต่อมาแล้วเราจะสามารถหาสมดุลของเรื่องราวตรงนี้อย่างไรดี เพราะคนที่จะก้าวเข้ามาเป็นออดิโอไฟล์ได้นั้น ทุกคนก็ต้องมีพื้นฐานเริ่มจากการชอบฟังเพลง “คุณเป็นออดิโอไฟล์คุณต้องยอมรับว่าคุณต้องชอบฟังเพลงไม่งั้นคุณคงไม่เล่นเครื่องเสียง”



      ___________________________________________________________________

 

แผ่นเสียงที่บันทึกเสียงดีคืออะไร

 

“เมื่อเราฟังออกมาแล้วมันให้ความรู้สึกเหมือนเสียงจริงมากที่สุด (Hi-Fidelity) ฟังแล้วสามารถแยกเครื่องดนตรีแต่ละชนิดออกจากกันมีรายละเอียดชัดเจนสมมติอย่างเสียงเปียโนเราต้องได้ยินถึงขนาดเสียงที่กระแทกเกิดเป็นแรงสั่นที่มาจากค้อนกระทบสายสตริงหรือถ้าเป็นเครื่องเป่าก็ต้องได้ยินเสียงลมไล่ผ่านตามท่อของเครื่องเป่าชิ้นนั้นถ้าเป็นนักร้องต้องได้ยินเสียงลมผ่านริมฝีปากเสียงกระดกลิ้น”  ถึงจะหลับตาหรือไม่หลับตาเสียงที่เราได้ยินทั้งหมดนั้นต้องเหมือนราวกับว่ามีวงดนตรีมาเล่นให้ฟังอยู่ข้างหน้า คุณวุฒิกรตบท้าย

ฉะนั้นลิสต์แผ่นเสียงทั้งหมด 10 แผ่นที่เรานำเสนอในบทความนี้จะมีทั้งแผ่นหายากที่มีเก็บไว้เพื่อทดสอบสมรรถนะของชุดเครื่องเสียงโดยเฉพาะ จนไปถึงแผ่นสามัญประจำบ้านที่หากไม่มีคงเรียกตัวเองว่าออดิโอไฟล์ได้ไม่เต็มปาก และแผ่นอัลบั้มสุดฮิตคุณภาพคับแก้วน่าฟังน่าสะสม ทั้งหมดเกิดจากการผสมและตกตะกอนทั้งประสบการณ์และความคิดจากการท่องโลกของคุณวุฒิกรในฐานะนักเล่นแผ่นเสียงหรือนักเล่นเครื่องเสียงก็ดี ที่สุดท้ายเขาอยากจะชวนชาวออดิไฟล์ ลองถามตัวเองสักครั้งหนึ่งว่า “ทุกวันนี้เราซื้อเครื่องเสียงมาทำไม

 

     ___________________________________________________________________

 

     Belafonte At Carnegie Hall – Harry Belafonte

แม้จะเป็นอัลบั้มที่ถือว่าไม่ได้หายากจนเกินไป แต่เป็นอัลบั้มที่ถือว่าเก๋าที่สุดในบรรดาการบันทึกการเล่นสดทั้งหมดทั้งมวลและเป็นแผ่นสามัญประจำบ้านที่ต้องมีติดไว้ “เหมือนการดูดนตรีสดมากกว่าการฟังเพลง” คุณวุฒิกรโฆษณาให้เราฟังก่อนจะยกโทนอาร์มไปวางที่แผ่น 

เสียงร้องและท่วงทำนองที่เกิดขึ้นภายในอัลบั้มนี้ปลุกเร้าจิตวิญญาณของเราให้ตื่นเต้นตลอด ระหว่างที่เขาร่ายมนต์ด้วยน้ำเสียงไปนั้น เขาเดินไปเดินมา จากฝั่งซ้ายของเวทีไปฝั่งขวา หยอกล้อกับคนฟัง เต็มเปี่ยมไปด้วยอรรถรสที่เป็นธรรมชาติ

Harry Belafonte เขาคือแกรนด์มาสเตอร์ในการสะกดคนดูได้อย่างอยู่หมัด ทั้งลีลา ท่าทางและฝีปากของเขาทำให้อัลบั้มบันทึกสดนี้กลายเป็นหมุดหมายทางประวัติศาสตร์ดนตรีที่สำคัญ คุณวุฒิกรเสริมว่าจุดนี้คือสิ่งที่เหล่าออดิโอไฟล์เลือกนำอัลบั้มนี้นำมาทดสอบมิติเสียง “เราจะเห็นการเคลื่อนไหวของเขาหน้าเวทีมันเหมือนเรานั่งอยู่ท่ามกลางผู้คนมันจะมีเสียงคนที่อยู่ในคาร์เนกีฮอลล์ในเวลานั้นโดยเฉพาะกับบรรยากาศของเพลง Matilda”

Recommended Track – Matilda

ด้วยความยาวกว่า 12 นาที แล้วก็มีการร้องสลับกับการพูดคุยกับคนดูและนักดนตรีบนเวทีแล้วก็หยุดเป็นช่วง ๆ แล้วก็ร้องต่อ บรรยากาศมันธรรมชาติมากและพลังเสียงที่ Belafonte ใส่เข้ามาในเพลงยากที่จะหาใครต้านทาน และเหตุการณ์ในครั้งนั้นก็กลายเป็นการสร้างมาตรฐานของการดึงคนดูให้มีอารมณ์ร่วมระหว่างขณะแสดงคอนเสิร์ตจนถึงทุกวันนี้

 

Jazz at the Pawnshop

“นี่คือแผ่นเพลงแจ๊สที่ผมชอบที่สุด” ไม่ง่ายเลยที่บรรดานักเล่นเครื่องเสียงจะอินและซึมซึบกับลีลาสำเนียงแจ๊สที่แตกต่างจากไปสมูทแจ๊ส ซึ่งสำหรับผลงานชุด Jazz at the Pawnshop จะจัดหนักในแบบสวิงและบีบ็อพ อัลบั้มนี้ออกมาในปี 1977 เล่นและบันทึกเสียงกันที่แจ๊สคลับ ชื่อ Stampen ตามที่ปรากฏอยู่บนปก และในอดีตที่ตรงนั้นเคยเป็นโรงรับจำนำ จึงเป็นที่มาของชื่ออัลบั้ม Jazz at the Pawnshop อัลบั้มนี้เป็นที่ยอมรับกันว่านี่คือหนึ่งในอัลบั้มแจ๊สที่บันทึกเสียงได้ดีที่สุดในศตวรรษที่ 20 

โดยทางพูดถึงคุโณปการทางดนตรีแจ๊สแล้วนั้น อัลบั้มนี้เสมือนเป็นการประกาศให้โลกได้รู้ซึ้งถึงฝีมือลายมือและขนบทางดนตรีแจ๊สในยุโรป ภายใต้การนำทัพของ Arne Domnérus และ Lars Erstrand สองนักดนตรีแจ๊สชาวสวีเดนผู้โด่งดัง

มีคนได้บรรยายไว้ว่าหากแผ่นเสียงอัลบั้มนี้ถูกเปิดผ่านชุดเครื่องเสียงอันทรงพลัง เราจะไม่ได้ยินแค่เสียงดนตรี แต่เราจะได้ยินตั้งแต่เสียงคนที่กำลังกินอาหาร หรือกำลังยกแก้วเบียร์ขึ้นซด และแม้กระทั่งสามารถจินตนาการได้เลยว่าชายคนนั้นกำลังเคี้ยวไส้กรอกอยู่อย่างเอร็ดอร่อย 

แผ่นเสียงปั๊มแรกผลิตขึ้นในประเทศสวีเดน ซึ่งออกมาเป็น 2 LP ยิ่งกว่านั้นในแต่ละหน้าอัดแค่เพียง 3 เพลงและในเวลาต่อมาถูกผลิตออกมาเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 4 ครั้ง อัลบั้มนี้จัดได้ว่าอยู่ในแผ่นสามัญประจำบ้านที่ต้องมีติดไว้เช่นกัน

Recommended Track – High Life 

High Life เป็นแทร็คที่สนุกและใส่ความเป็นอัฟริกันได้เข้ามาอย่างลึกซึ้ง ช่วงต้นเพลงจะปูด้วยเสียงอัลโตแซกโซโฟนของ Arne Domnérus เพื่อเปิดแสงสว่างให้แก่ค่ำคืนสุดวิเศษ ตามด้วยการบรรเลงเปียโนด้วยทำนองมากเสน่ห์ให้กลิ่นอายความอัฟริกันเหมือนมาริมบ้า โดยเฉพาะการรัวโซโล่กลองในตอนท้ายด้วย

 

Hell Freezes over – Eagles

แผ่นสามัญประจำบ้านลำดับที่ 3 ของลิสต์นี้เป็นอัลบั้มการแสดงสดของเหล่า 4 พญาอินทรี ในวาระการกลับมารวมตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปี

เมื่อไหร่จะกลับมาเล่นด้วยกันอีก.. เมื่อปี 1980 Don Henley หัวหน้าวง ตอบคำรบเร้าของนักข่าวไปด้วยทีเล่นทีจริงว่า “ไม่มีทางเกิดขึ้นอย่างแน่นอนหรือถ้ามีโอกาสก็คงรอจนกว่านรกทั้งขุมจะเย็นกลายเป็นธารน้ำแข็ง” ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของชื่ออัลบั้ม Hell Freezes Over หลังจากที่พวกเขากลับมาผงาดอีกครั้งในการแสดงสดที่ MTV ปี 1994 ซึ่งอัลบั้มนี้จะเป็นการรวมเพลงที่ถูกบันทึกขณะแสดงสด 11 เพลง และเพลงใหม่ที่บันทึกเสียงในสตูดิโอ 4 เพลง เช่น Get Over it และ Love Will Keep Us Alive เป็นต้น

“แน่นอนว่ามันเป็นการเล่นกันเต็มวงครั้งแรกในรอบ 14 ปีและเขาบันทึกเสียงดีมากทุกอย่างทั้งไดนามิกเองมันออกมาแบบเต็มอิ่ม” คุณวุฒิกรบรรยายความสุดยอดของดิ อีเกิลส์บวกกับการบันทึกเสียงที่สมบูรณ์ส่งให้อัลบั้มนี้ขึ้นชั้นไปเป็นแผ่นทดสอบเครื่องเสียง ซึ่งปั๊มแรกถูกผลิตที่ประเทศเนเธอร์แลนด์

Recommended Track – Hotel California 

Hotel California ฉบับอะคูสติก เพลงที่ต้องถูกเปิดทุกครั้งเมื่อมีงานโชว์เครื่องเสียง เพราะแค่เสียงกลองตอนเริ่มก็กินขาด ทั้งเสียงกีตาร์และเสียงร้องพอมาผ่านความอะคูสติก มันได้ความเป็นธรรมชาติของเสียงที่ดีมาก “จริงๆแผ่นนี้สะท้อนคำพูดของ Alan Parsons ได้ชัดเจนมากๆที่บอกซื้อแผ่นไว้ลองเครื่อง” คุณวุฒิกรย้ำถึงประโยคช่วงต้นบทสนทนา

แม้จะมีเพลงกลิ่นบัลลาดอย่าง Love Will Keep Us Alive ที่ถามใครใครก็รัก หรือเพลงสไตล์คันทรี่อย่าง Learn to Be Still หรือไม่ว่าจะเป็นเสียงเปียโนที่จับใจ Desperado คุณวุฒิกรก็ต้องยอมหลีกทางให้ Hotel California เป็นแทร็คตัวแทนเพื่อนของอัลบั้มนี้จริง ๆ

 

MTV Unplugged in New York- Nirvana

วงกรันจ์ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดบนโลกใบนี้ ขณะเดียวกันพวกเขาก็เป็นผู้ค้นพบและสร้างแนวดนตรีในสไตล์ใหม่ ยิ่งกว่านั้น Kurt Cobain ฟร้อนท์แมนของวงที่กลายเป็นสไตล์ไอคอนให้กับวัยรุ่นในยุคสมัยนี้ด้วย 

มีนักวิจารณ์ดนตรีผู้หนึ่งกล่าวไว้ทำนองว่า ถ้าอัลบั้ม In Utero เป็นเหมือนจดหมายลาตาย อัลบั้ม MTV Unplugged in New York ก็เป็นข้อความสุดท้ายที่เขาอยากจะให้คนตระหนักหลังจากเขาจากไปแล้ว การแสดงสดในครั้งนี้เป็นเหมือนถ้อยคำที่รวบรัดสรุปถึงความสามารถและความทุกข์ทนในจิตใจของ Kurt Cobain ได้ออกมาอย่างน่าสะพรึง เรื่องแปลกอีกอย่างหนึ่งแม้ดนตรีและการบันทึกเสียงของอัลบั้มนี้จะดีเยี่ยมแค่ไหน แต่เราสาบานเลยว่าคุณไม่สามารถฟังมันวนไปวนมาได้ทั้งวันแน่ ๆ 

อัลบั้มนี้ถือเป็นม้านอกสายตาของรอบนี้กันเลยทีเดียว เพราะคุณวุฒิกรบอกกับเราตรง ๆ ว่าคงไม่มีออดิโอไฟล์คนไหนที่ฟัง “ผมชอบลักษณะทางดนตรีของเขาที่เป็นอันเดอร์กราวด์เป็นกรันจ์ร็อคและที่สำคัญชอบความเป็นอันปลั๊กได้เสียงสดๆรายละเอียดเสียงบันทึกดีจากค่ายเกรฟเฟนเรคคอร์ดคือในออดิโอไฟล์ไม่มีใครเล่นแต่ผมเป็นคนที่เปิดรับได้”

อัลบั้มนี้เป็นการบันทึกการแสดงสดที่ Sony Studios ในมหานครนิวยอร์ก ปี 1993 และเปิดตัวครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน ปี 1994 สิ่งที่ทำให้อัลบั้มนี้พิเศษด้วยตัวของมันเองที่ต่างจากสตูดิโออัลบั้มก็คือ เพลงที่วง Nirvana เล่นในเหตุการณ์ครั้งนั้นส่วนมากเป็นเพลงโคฟเวอร์จากศิลปินอื่น เช่น David Bowie, The Vaselines และ Lead Belly

Recommended Track – The Man Who Sold the World 

เพราะไม่มีใครเล่นโคฟเวอร์ The Man Who Sold the World ของ David Bowie ได้สบายอารมณ์และต่อกรกับต้นฉบับได้ไปมากกว่าพวกเขาอีกแล้ว ความสามารถของเขาในการเล่นเพลงนี้ทำให้ใครหลายคนรู้ซึ้งถึงพรสวรรค์ของ Kurt Cobain ว่าผู้ที่ไม่ค่อยมีอารมณ์ขัน ชายซึ่งมักปรากฏตัวพร้อมคาร์ดิแกนและลีวายส์ 501 ผู้นี้คือหนึ่งใน 50 ศิลปินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล 

 

The Freewheelin’ Bob Dylan – Bob Dylan

The Freewheelin’ Bob Dylan อาจจะไม่ใช่ผลงานที่เป็นที่สุดของศิลปินระดับตำนานผู้นี้ แต่เป็นอัลบั้มที่เป็นมิตรต่อผู้ที่กำลังจะยื่นมือเข้ามาทักทายสำเนียงทางดนตรีของเขา และเป็นอัลบั้มที่ก้าวข้ามเส้นแบ่งและอยู่เหนือกาลเวลาทั้งปวง ที่มีอิทธิพลต่องานดนตรีในยุคสมัยหลังขณะเดียวก็เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการเปลี่ยนโฉมหน้าและนิยามใหม่ของลักษณะทางดนตรี

Bob Dylan คือศิลปินที่เราพูดอะไรไปก็ดูเหมือนอวยเขา แต่ข้อเท็จจริงคือเขาเป็นมนุษย์ผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยความสามารถจริง ๆ เขาคือที่สุดในเรื่องของชั้นเชิงการแต่งเพลง ดินแดนแห่งจินตนาการที่น้อยคนจะเข้าไปสัมผัสถึงได้เหมือนอย่างที่เขาได้ทำให้เราเห็น 

หาก Louis Armstrong และ Elvis Presley คือตัวแทนของจินตนาการทางดนตรีของจิตวิญญาณความเป็นอเมริกัน สิ่งที่ Bob Dylan ได้ทำออกมานั้นถือว่าเทียบเท่าได้เลยด้วยกีตาร์และฮาร์โมนิก้าและเสียงที่แหบพร่าของเขา 

การบันทึกเสียงอัลบั้มนี้ถ้าในแง่ของดนตรีอาจจะยังไม่โดดเด่นมากหากเทียบกับแผ่นอื่นที่เรายกขึ้นมาแนะนำ แต่พอไปฟังเสียงร้อง จะรับรู้ได้ถึงเนื้อเสียงที่สัมผัสได้ มีความโปร่งและมีรายละเอียด ราวกับ Bob Dylan ร้องอัดใส่ไมค์อยู่ในห้องเดียวกับคุณเลย 

Recommended Track – Blowin’ in the Wind 

Blowin’ in the Wind เป็นเพลงที่เหมือนลมนำทางของขบวนการเคลื่อนไหวในสมัยที่เพลงโฟลค์ได้เข้าไปอยู่ในหัวใจของจิตวิญญาณเสรีชนและชาวโบฮีเมียนเข้าสู่การประท้วงต่อความปั่นป่วนและบิดเบี้ยวของสังคมอเมริกาในขณะนั้น  

 

The Dark Side of The Moon – Pink Floyd

แทบไม่ต้องบรรยายสรรพคุณของอัลบั้มนี้ สำหรับตำราพิชัยยุทธทางดนตรีร็อคแห่งช่วงทศวรรษ ’70s นอกจากฝีมือของ Alan Parsons โปรดิวเซอร์ที่ควบคุมคุณภาพการผลิตให้เกิดมิติเสียงที่โดดเด่น อีกสาเหตุที่คุณวุฒิกรเลือกจะหยิบยกขึ้นมาพูดถึง The Dark Side of The Moon เพราะความยิ่งใหญ่ทางดนตรีที่อัลบั้มนี้ได้สร้างเอาไว้ให้กับโลกใบนี้มันเกินที่จะบรรยายได้ และเป็นอัลบั้มที่เขารักมากเป็นอันดับหนึ่งในบรรดาผลงานของ Pink Floyd อีกด้วย เพราะไม่มีอัลบั้มไหนที่จะเทียบเคียงคุณภาพการบันทึกเสียงได้เท่าอัลบั้มนี้ ซึ่งผลิตโดย Harvest Records บันทึกเสียงกันที่ Abbey Road Studio ในกรุงลอนดอน อัลบั้มนี้นับเป็นจุดสูงสุดบนยอดภูเขาของความสำเร็จของพวกเขา ทั้งแง่การตลาดและทางดนตรี โดยแผ่นเสียงอัลบั้มนี้ถูกปล่อยมาครั้งแรกในเดือนมีนาคม ปี 1973 

“สิ่งที่เรียกว่าอีกฟากฝั่งความมืดของดวงจันทร์ก็แค่คำพูดที่สร้างขึ้นมาเพราะความจริงที่นั่นไม่เคยมีแสงสว่างเลย” Roger Waters สมาชิกวง Pink Floyd เคยพูดไว้ คุณวุฒิกรเสริมต่อว่าโปรเจ็กต์อัลบั้มนี้ไม่ได้ต้องการจะเล่าถึงเรื่องดาราศาสตร์อะไรทั้งนั้น แต่เป็นเรื่องของสังคม สังคมที่เติบโตได้ด้วยมนุษย์ และก็สามารถเปลี่ยนแปลงมนุษย์ได้เช่นกัน ซึ่งแสงสีขาวที่ทะลุพีระมิดและกระจายออกมาเป็นสเปกตรัมนั้นเปรียบได้คือมนุษย์  “เขาบอกว่าพีระมิดคือสังคมคนคือแสงสีขาวเมื่อเข้าไปอยู่สังคมแล้วจะเกิดการแบ่งแยกกันนี่คือความหมายที่เขาออกแบบมามันก็เป็นเรื่องราวของชีวิตที่เกิดแก่เจ็บตาย” 

Pink Floyd ทำได้ดีมาก ๆ ในการจัดสรรวางพื้นที่ให้กับเสียงหลากหลายแบบและเรียบเรียงออกมาได้ลื่นไหลไปกับอารมณ์ พลังที่แท้จริงที่ขับเคลื่อนอัลบั้มนี้ก็คือเนื้อหนังมังสาทางดนตรีที่มาจากโครงสร้างของบูลส์ร็อคกับโปรเกรสซีฟร็อค ไปจนถึงฟิวชั่นแจ๊ส ทั้งหมดทั้งมวลกลายเป็นความมืดอันนิรันดร์เคลื่อนที่ด้วยจังหวะไม่รีบเร่งแต่ยิ่งใหญ่

Recommended Track – Speak to me 

เสียงหัวใจที่ดังขึ้นต่อเนื่องไปเวลาหนึ่งนาทีตอนเริ่มแทร็คท่ามกลางเสียงแอมเบียนต์รอบข้าง โดยชาวออดิโอไฟล์มักนำมาใช้ทดสอบเสียง เพลง Speak to me ถือว่าเป็นทั้งแก่นและบทสรุปของทั้งอัลบั้ม ก่อนที่จะเริ่มไล่เรื่องราวต่อไปที่เพลง Breathe (In The Air)

 

Hope – Hugh Masekela

Hugh Masekela นักดนตรีแจ๊สผู้เป็นเพื่อนรักของ Belafonte เขาผู้นี้มีพลังเสียงระดับพระกาฬฉบับที่ว่าเนื้อร้องที่เขาขับออกมานั้นราวกับเป็นเวทมนตร์สะกดคนฟังตกอยู่ในภวังค์ นอกจาก Belafonte และ Masekela จะขึ้นชื่อเรื่องเนื้อเสียงที่ยิ่งใหญ่เหมือนกัน เรื่องการใช้ดนตรีเพื่อสื่อสารถึงเรื่องการเมืองและสังคมก็เป็นของถนัดของพวกเขาทั้งคู่เช่นกัน

Hope เป็นการบันทึกแสดงสดที่คลับ Blues Alley ในเมืองวอชิงตัน ดีซี ปี 1993 อัลบั้มนี้เปรียบเหมือนความฝันของเขาที่ต้องการจะเห็นรากเหง้าของดนตรีอัฟริกันได้ถูกนำมาทำให้ร่วมสมัย เพลงส่วนใหญ่ในอัลบั้มนี้มาจากเหตุการณ์ในช่วงชีวิตที่สำคัญของตัวเอง

อัลบั้มนี้รวบรวมทั้งอารมณ์แห่งความหนักแน่นจริงจังและช่วงเวลาแห่งการผ่อนคลาย สองสิ่งที่ดูเหมือนจะไม่เข้ากันแต่ Masekela ทำออกมาได้อย่างดีเยี่ยม “ดนตรีสนุกมากสไตล์อัฟริกันแจ๊สพวกเพอร์คัชชั่นก็โดดเด่นและเป็นแผ่นที่บันทึกเสียงได้ดีมากๆ” คุณวุฒิกรพูดไปขณะที่กำลังจะวางเข็มลงบนร่องแทร็คสุดท้ายที่เรากำลังจะพูดถึงต่อไป 

Recommended Track – Stimela (The Coal Train) 

แทร็คสุดท้ายของอัลบั้มนี้เป็นเหมือนบาดแผลในชีวิตของเขา เพลงนี้เขาจะร้องสลับกับพูด ตามด้วยเสียงหวีดร้องที่เขย่าโสตประสาททุกช่วงจังหวะ ไดนามิกที่หลากหลายและทรงพลังจะเร่งอารมณ์ผู้ฟังขึ้นไปเรื่อย ๆ รวมถึงการบันทึกที่ยอดเยี่ยมและการจัดเต็มของวงดนตรีที่เล่นเหมือนราวกับจะไม่มีวันพรุ่งนี้ ที่สำคัญเพลงนี้ Masekela ได้โชว์โซโล่ฟลูเกิลฮอร์นเต็ม ๆ

 

The Hunter – Jennifer Warnes

ในวงการออดิโอไฟล์บ้านเราไม่มีใครไม่รู้จักเธอคนนี้เจ้าของรางวัลแกรมมี่สาขาเพลงป็อปดูโอสองสมัยเจ้าของพลังเสียงทรงพลังที่เคยร่วมงานกับศิลปินระดับไอคอนมามากมายรวมถึง Leonard Cohen ด้วยการเคยเป็นนักร้องแบคอัพให้ศิลปินแนวคันทรี่ผู้ยิ่งใหญ่ในช่วงทศวรรษ ’70s และเธอได้มีผลงานอัลบั้ม Famous Blue Raincoat ที่เป็นการนำเพลงของ Leonard Cohen มาขับร้องใหม่และที่ถือว่าเป็นหนึ่งในชุดผลงานประสบความสำเร็จของเธออย่างยิ่งใหญ่ 

โดย 5 ปีต่อมาก็ได้ออกผลงานชุด The Hunter ที่ถือเป็นอีกหนึ่งอัลบั้มน่าสะสมของชาวออดิโอไฟล์ เพื่อการทดสอบคุณภาพเสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพลังเสียงต่ำจากแทร็ค Way Down Deep โดยคุณวุฒิกรกำชับว่า “ปั๊มแรกปกสีขาวจาก Private Music ที่ผลิตในประเทศเนเธอร์แลนด์นั้นให้เสียงได้ดีที่สุด” โดยปั๊มหลังในอเมริกาจะเป็นปกสี ซึ่ง The Hunter เป็นอัลบั้มยอดนิยมอันดับหนึ่งของศิลปินหญิงชาวอเมริกันผู้นี้ด้วย ที่สำคัญผลงานชุดนี้เพลงจำนวนครึ่งอัลบั้มเธอเป็นคนแต่งเอง

Recommended Track – The Hunter 

The Hunter เป็นแทร็คที่สง่างามและเต็มไปด้วยตัวตนของ Jennifer Warnes จริง ๆ มีไดนามิกครบถ้วน รายละเอียดสวยงามและที่สำคัญบันทึกเสียงได้ยอดเยี่ยม 

 

Unplugged – Eric Clapton

อัลบั้มบันทึกการแสดงสดที่ยอดเยี่ยมที่สุดและประสบความสำเร็จมากที่สุดของ Eric Clapton หนึ่งในมือกีตาร์แนวบลูส์ร็อคไร้เทียมทาน จากอัลบั้มที่ถูกขนามนามว่าล้ำค่าดุจดั่งเพชรด้วยการประเดิมยอดขาย 10 ล้านก้อปปี้ในสหรัฐอเมริกา แต่เมื่ออัลบั้มนี้ออกเดินทางไปทั่วโลกได้กลายเป็นสิ่งล้ำค่ายิ่งกว่าเพชรเสียอีกการันตีด้วยยอดขาย 26 ล้านก้อปปี้

ส่วนตัวคุณวุฒิกรโหวตให้กับปั๊มแรกที่ออกมาภายใต้สังกัด Duke Records ในปี 1992 มากกว่าโดยให้เหตุผลว่ามองเห็นชิ้นดนตรีได้ชัดเจนและแยกแยะตำแหน่งของชิ้นดนตรีได้ดีกว่า “ผมชอบเสียงกีตาร์อะคูสติกในสไตล์การเล่นของเขาปั๊มแรกมีสเปซของดนตรีมากกว่าและเสียงโปร่งกว่าปั๊มที่สองมีไดนามิกที่ดีกว่าเหมือนตัวคนฟังได้เข้าไปอยู่ในบรรยากาศวันนั้น” 

ดังที่เราทราบกันดีว่าในปี 1991 Eric Clapton ต้องเผชิญกับโศกนาฏกรรมเศร้าสลดกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับลูกชายเขา ที่หลังจากนั้นเขาจึงได้แต่งเพลง Tears in Heaven เพื่ออุทิศให้กับคอเนอร์ลูกชายคนเดียวของเขา ซึ่งเพลงดังกล่าวภายหลังกลายเป็น 1 ใน 6 รางวัลที่เขาได้รับในปีนั้น 

การที่เขาได้มาเล่นในรายการ MTV ปี 1992 นั้นเหมือนกับเป็นการฟื้นฟูจิตวิญญาณและกลับคืนสู่เส้นทางดนตรีอีกครั้ง ที่ต่อมากลายเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เพลง Tears in Heaven ถูกเปิดตัวอย่างทางการต่อหน้าแฟนเพลง หากย้อนกลับไปดูเจตนารมณ์ของ MTV Unplugged จะทราบว่านี่คือพื้นที่ของการให้ศิลปินมาแสดงตัวตนในลักษณะที่แตกต่างจากที่เคยเป็นและได้กำหนดนิยามให้ตัวเองใหม่ ซึ่งเจ้าของฉายา Slowhand ผู้นี้ทำได้ในระดับที่สมบูรณ์มากที่สุดเท่าที่มีคนเคยทำไว้

Recommended Track – Tears in Heaven

Tears in Heaven บทสนทนาระหว่างเขากับลูกชายบนสรวงสวรรค์ คือเพลงที่โด่งดังที่สุดของเขาและเป็นการขับกล่อมทางดนตรีที่สมบูรณ์ที่สุดที่โลกเคยมีมา

 

 Felipe De La Rosa – Flamenco Fever

น้อยคนที่จะรู้จักอัลบั้มนี้ แต่ในวงการออดิโอไฟล์ถือว่าคือสมบัติล้ำค่าที่ต้องตามหามาเก็บเป็นเจ้าของให้ได้ ขึ้นชื่อว่าเป็นแผ่นเสียงที่บันทึกแบบ Direct to Disc (จากเสียงตรงสู่แผ่น ไม่ผ่านการดัดแปลงใด ๆ) แน่นอนดีกรีย่อมไม่ธรรมดา ซึ่ง Felipe De La Rosa เป็นอัลบั้ม Direct to Disc ที่เยี่ยมยอดที่สุดจากทรรศนะของคุณวุฒิกร ผลิตโดย M&K Realtime Records ออกวางตลาดในปี 1978 ซึ่งในหน้าปกโชว์ให้เห็นเครื่องบันทึกเสียงวางอยู่ให้รู้ถึงความจริงจัง

โดยแผ่นนี้จะเข้าข่ายแผ่นเสียงที่บันทึกได้ดีเยี่ยมแต่เพลงไม่ติดหูหรือฟังยากตามที่เกริ่นไปตอนต้น โดยคุณวุฒิกรเสริมดีกรีของแผ่นนี้ต่อว่า “เป็นแผ่นหายากเอาไว้โชว์พลังเครื่องเสียงเท่านั้นปีๆนึงคงหยิบมาฟังแค่รอบเดียว” คล้าย ๆ กับว่าของมันต้องมี 

สาเหตุที่ชาวออดิโอไฟล์ต้องตามล่ามาเก็บไว้นอกจากประเด็นเรื่องคุณภาพเสียงที่บันทึกได้สมจริงสมจังแล้วนั้น ลักษณะการแสดงบนเวทีก็คือประเด็นหลักที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะอัลบั้มนี้ดนตรีจะหนักไปทางแนว ละติน โฟลค์ และฟลาเมงโกที่ผสมผสานกับการเต้น ฉะนั้นเพลงจะเน้นจังหวะไปที่เสียงกระทืบเท้าของนักเต้น เวลาที่ได้ฟังนั้นให้ความรู้สึกเหมือนเรานั่งอยู่ที่เก้าอี้ตัวหน้าสุดของแถวติดขอบเวที ถ้าตามภาษาออดิโอไฟล์แบบคุณวุฒิกรจะบอกว่า “แทบจะไม่มีความรู้สึกของการอัดมา” รวมถึงไดนามิกที่ฉับไวและเบสที่หนักแน่นและสเปซของดนตรีที่กว้างทำให้แผ่นนี้ควรค่าแก่การตามล่าหามาครอบครอง

อัลบั้มนี้ไม่มีแทร็คที่แนะนำเป็นพิเศษ แต่มีเรื่องข้อควรระวังในการปรับระดับเสียง เพราะอัลบั้มนี้ผ่านการบันทึกแบบไม่ได้มีซาวด์เอนจิเนียร์มาปรับแต่งไดนามิก จึงทำให้ค่าเสียงเกินในระดับปกติที่บันทึกกันอาจทำให้ลำโพงเสียงแตกได้

 

 



 

Back to blog