‘แอนดี้ วอร์ฮอล’ กับบทบาทนักวาดภาพประกอบปกอัลบั้มแผ่นเสียง

‘แอนดี้ วอร์ฮอล’ กับบทบาทนักวาดภาพประกอบปกอัลบั้มแผ่นเสียง

เด็กชายจากครอบครัวอพยพชาวสโลวาเกีย เริ่มเติบโตขึ้นในเมืองเล็กๆ ของรัฐเพนซิลเวเนีย ในเวลานั้นไม่มีใครสามารถล่วงรู้เลยว่า แอนดี้ วอร์ฮอล (Andy Warhol) ชายร่างเล็กผู้นี้จะกลายมาเป็น บิดาแห่ง ป็อปอาร์ต (Pop Art) ที่ฝากผลงานไว้บนปกแผ่นเสียง และชิ้นงานมากมาย
Pop Art หรือศิลปะประชานิยม ที่ ‘ความป็อป’ ไม่ได้เป็นเพียงภาพสีซิลค์สกรีนแสนสดใส แต่ยังหมายถึงวิธีการมองหาความหมายต่อสิ่งๆ นั้นด้วยความคิดที่สามารถต่อรองหรือลดทอน ปรับเปลี่ยนความดาษดื่นอันแสนจำเจให้กลายเป็นสิ่งที่น่าสนใจขึ้นมาได้ อย่างที่เรารู้กันว่าวอร์ฮอลเป็นบุคคลมากความสามารถเหลือเกิน เขาทำทุกอย่างที่ข้องแวะเกี่ยวกับความบันเทิง เขาเดินหน้าลุยไปกับงานภาพยนตร์อิสระที่เป็นเส้นขนานคู่ไปกับภาพยนตร์กระแสหลัก หรือการถ่ายภาพโพลารอยด์ของบุคคลดังในวงการ ซึ่งภาพถ่ายของเขานั้นถือเป็นเอกสารสำคัญของประวัติศาสตร์วงการศิลปะ รวมถึงเป็นผู้สนับสนุนหลักให้กับวงดนตรีสุดแนวระดับตำนานอย่าง The Velvet Underground & Nico ที่แสดงให้เห็นว่าเขา คือ บุคคลผู้ทรงอิทธิพลของโลกป็อปคัลเจอร์อย่างแท้จริง

ถ้าจะมีสิ่งใดที่บอกเล่าเส้นทางการเดินทางในบทบาทของศิลปินของตัวแอนดี้ วอร์ฮอลได้อย่างชัดเจนแล้วนั้น ผมมองว่าการออกแบบปกอัลบั้มเพลงของเขานั้น คือ ผลงานที่เราสามารถจะศึกษาและทำความเข้าใจตัวตนของเขาได้อย่างเพลิดเพลินไม่แพ้ผลงานบนแคนวาสชื่อดังของเจ้าตัว เพราะช่วงชีวิตของเขานั้นได้เริ่มนับหนึ่งกับการเป็นศิลปินก้าวแรกก็คือ การออกแบบปกอัลบั้ม A Program of Mexican Music ของศิลปินคาร์ลอส ชาเวจ (Carlos Chávez) กับค่ายใหญ่อย่าง Columbia ในปี 1949 และการสร้างสรรค์งานบนซอง LP ขนาด 12 นิ้วนี้ก็อยู่กับเขาไปจนถึงวาระสุดท้าย ซึ่งตอนนั้นเขาก็ยังออกแบบอยู่กับผลงานชุดรวมเพลงของ MTV – High Priority (1987) ขณะที่เขารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ก่อนเสียชีวิตภายในปี 1987

แอนดี้ วอร์ฮอล ได้รับชื่อเสียงครั้งแรกกับการเป็นนักวาดภาพประกอบเชิงพาณิชย์ เขาประสบความสำเร็จอย่างมากกับการทำงานโฆษณาให้กับบริษัทรองเท้าสุภาพสตรี I. Miller ผลงานอันหรูหราและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้เขาได้รับรางวัลทรงเกียรติของ Art Directors Club ในปี 1957 หลังจากนั้นชื่อเสียงเขาก็เหมือนดอกไม้ไฟที่ไม่มีวันดับ เขาเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วในนิตยสารจำพวกแฟชั่น และมีผลงานในตู้กระจกดิสเพลย์ของห้างชื่อดังในนิวยอร์กอย่าง Bonwit Teller จนในที่สุดมันก็นำไปสู่การจัดโชว์ในแกลลอรี่ของเขาครั้งแรก

เขาใช้การวาดปกอัลบั้มเป็นฐานและแม่แบบในการพัฒนาฝีมือและสไตล์ของตัวเองที่ทำให้เขามีอาวุธเพียบพร้อมในวันที่ฤดูกาลวัฒนธรรมป็อปมาเยือน ซึ่งหลังจากที่เขาเปลี่ยนสถานะตัวเองจากนักวาดภาพออกแบบเป็นศิลปินที่ได้จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ตัวเขาเองก็ยังหาหนทางฝึกปรือยกระดับผลงานตัวเองขึ้นไปเรื่อยๆ

ถ้าพูดถึงแอนดี้ วอร์ฮอลกับผลงานปกอัลบั้ม สิ่งที่จะไม่พูดถึงเลยไม่ได้ก็คือ สตูดิโอที่มีนามว่า The Factory พื้นที่สร้างสรรค์งานของวอร์ฮอล ถือว่าเป็นแหล่งรวมตัวของความเจ๋งแห่งยุค ‘60s – ‘80s หลายๆ อย่างที่เกิดขึ้น ณ ที่แห่งนี้ พอเวลาผ่านไปได้กลายมาเป็นหน้าต่างใบใหญ่อีกบานของประวัติศาสตร์ศิลปะ ช่วงเวลาดังกล่าวนั้นฟุ้งและอบอวลไปด้วยบทสนทนาคุณภาพที่เจริญความคิดสร้างสรรค์ มีบุคคลที่แวะเวียนมาไม่ขาดอย่างมิก แจ็กเกอร์ (Mick Jagger) แห่ง The Rolling Stones, มิเกล โบเซ (Miguel Bosé) ศิลปินนิวเวฟผู้ยิ่งใหญ่ชาวสเปน และ ลู รีด (Lou Reed) อดีตนักร้องนำวง The Velvet Underground & Nico ที่ไม่แปลกใจเลยว่าผลงานทั้งหมดที่เกิดขึ้นที่นั่น ทำไมถึงได้มีอิทธิพลต่อวงการศิลปะ แฟชั่นและดนตรีขนาดนี้

ถ้าหากจะเอ่ยถึงอัลบั้มที่เปรียบเป็นดังหมุดหมายที่ทำให้คนรู้จักแอนดี้ วอร์ฮอลกับผลงานปกอัลบั้มแล้วละก็คงหนีไม่พ้น The Velvet Underground & Nico พร้อมกับรูปกล้วยหอมสีเหลืองสุกงอมชวนคิดลึก และผลงานสุดสยิวของ The Rolling Stones ในอัลบั้ม Sticky Fingers ที่เชื้อเชิญสายตาให้เราจับจ้อง แต่น้อยคนที่จะรู้ว่าผู้บุกเบิกป็อปอาร์ตผู้นี้ เคยเริ่มต้นเส้นทางด้วยการวาดปกอัลบั้มศิลปินแจ๊ส โอเปร่า คลาสสิกและอีกมากมาย หากจะนับรวมทั้งผลงานปกอัลบั้มของเขานั้น ที่ทั้งทำเองและที่มีส่วนร่วมในบางขั้นตอน ทั้งหมดมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 100 ชิ้น

วันเวลาที่ล่วงเลยไปทำให้ของพวกนี้ก็มีคุณค่าเทียบเท่ากับงานศิลปะที่อยู่บนแคนวาสชื่อดังของเจ้าตัว ที่มีราคาสูงตามความหายากของมัน เมื่อ 24 ปีที่แล้วมีเหตุการณ์หนึ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นทำให้ผู้คนในโลกศิลปะตื่นตัวกับผลงานผกอัลบั้มของแอนดี้ วอร์ฮอล เรื่องมีอยู่ว่ามีแฟนคลับและนักสะสมคนหนึ่งชาวแคนาเดียนคนหนึ่ง ชื่อ ปอล แมร์ชาร์ล (Paul Maréchal) เหตุเกิดจากการที่เขาได้ไปเจออัลบั้ม The Painter ของพอล แองคา (Paul Anka) หนึ่งในผลงานที่โดดเด่นของวอร์ฮอล ในกองขยะของร้านแผ่นเสียงแห่งหนึ่งในมอนทรีออล จากนั้นเขาไล่ศึกษาและรวบรวมผลงานบนปกอัลบั้มจากฝีมือของแอนดี้ วอร์ฮอลตลอดระยะเวลา 12 ปี มาอยู่ในหนังสือที่มีชื่อว่า “Andy Warhol: The Record Covers, 1949-1987”

การค้นหาของเขาเป็นเหมือนการจุดกระแสให้แฟนคลับของแอนดี้ วอร์ฮอลออกเดินทางตามล่าหาขุมทรัพย์ลึกลับที่วอร์ฮอลได้ทิ้งไว้ ซึ่งเป็นจุดหมายในการเดินทางของเราเช่นเดียวกัน

ในบทความนี้จะพาคุณย้อนกลับไปดูผลงานตั้งแต่ในช่วงที่เขายังเป็นเพียงนักวาดภาพประกอบคนนึง จนไปถึงผลงานของเขาในวันที่ทุกคนต่างสถาปนาให้เขาเป็น ‘The American Icon’ ซึ่งอัลบั้มทั้งหมดที่คัดเลือกมาเป็นผลงานที่วอร์ฮอลมีส่วนร่วมในขั้นตอนการทำงานจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นด้วยเทคนิค blotted Line การถ่ายภาพ และการพิมพ์ซิลค์สกรีน ตั้งแต่ปี 1949 – 1987

อัลบั้ม Progressive Piano เป็นชิ้นงานที่เริ่มเห็นองค์ประกอบที่เป็นตัวตนเด่นชัดของแอนดี้ วอร์ฮอล กับภาพวาดมือที่วางทาบบนคีย์บอร์ด เทคนิคการวาดแบบ blotted line ถึงอัลบั้มนี้ไม่เคยได้ถูกปล่อยออกไป มีคนสันนิษฐานว่าอัลบั้มดังกล่าวถูกล้มเลิกไปกลางคัน แต่ไอเดียดังกล่าวไม่ได้ถูกทิ้งไป เขานำมาใช้ผลงานใหม่ที่ไปปรากฏให้เห็นอีกทีกับอัลบั้ม Piano Music of Mendelssohn and Liszt – วลาดิเมียร์ โฮโรวิตซ์ (Vladimir Horowitz) ของค่าย RCA Victor ภาพปกดังกล่าวน่าจะถูกดีไซน์ช่วงระหว่างปี 1951-1954 โดยอัลบั้ม Progressive Piano อาจเป็นอัลบั้มเดียวของผลงานวอร์ฮอลที่มีอยู่เพียงหนึ่งชิ้นเท่านั้นบนโลกใบนี้ ซึ่งจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ แอนดี้ วอร์ฮอล ในเมืองพิตต์สเบิร์ก

ในปี 1955 ค่าย RCA Victor ปล่อยอัลบั้ม Count Basie (1955) ซึ่งเป็นผลงานที่นับว่าเป็นภาพวาด พอตเทรตที่สวยรูปหนึ่งของแอนดี้ วอร์ฮอล และเป็นภาพพอตเทรตคนดังคนแรกของในชีวิตการทำงานของวอร์ฮอลอีกด้วย เขาวาดจากภาพถ่ายตอนที่ เคาท์ เบซี (Count Basie) สูบบุหรี่ ที่จะเห็นได้จากปกหลังของอัลบั้ม LP คอลเลคชั่นนี้เป็นการรวมเพลงของเคาท์ เบซี ในช่วงปี 1948-1950

ผลงานที่สองของวอร์ฮอลกับค่าย Blue Note กับอัลบั้ม The Congregation (1958) ของนักแซกโซโฟน จอห์นนี่ กริฟฟิน (Johnny Griffin) การระบายสีดอกไม้สีสด มีชีวิตชีวาลงบนเสื้อของกริฟฟิน ภาพดอกไม้ดังกล่าวหากพิจารณาจากในปีนั้นคงไม่ได้มีอะไรหวือหวาแต่ถ้ามองมันจากปัจจุบัน เราก็จะเข้าใจถึงที่มาของภาพพิมพ์ซิลค์สกรีนดอกไม้ในผลงานราคาแพงของวอร์ฮอลหลากหลายชิ้น ซึ่ง The Congregation ถือเป็นผลงานคลาสสิกของการร่วมมือระหว่าง รีด ไมลส์ (Reid Miles) ดีไซเนอร์ชื่อดังแห่งค่าย Prestige และวอร์ฮอล

อัลบั้ม Blue Lights (1958) โดยเคนนี เบอร์เรล (Kenny Burrell) ปกสีม่วงที่เห็นตามภาพนี้เป็นชุดที่ 2 ของอัลบั้มนี้ ซึ่งต่างกันเพียงเวลาที่อัดเสียงเท่านั้น แต่ทั้งสองเวอร์ชั่นถูกเล่นในวันที่ 14 พฤษภาคม ปี 1958 เหมือนกัน ซึ่งครั้งนี้ก็เป็นการร่วมงานกันระหว่างรีด ไมลส์และแอนดี้ วอร์ฮอลเช่นเคย ปกอัลบั้มนี้เป็นหนึ่งในผลงานที่สวยงามที่สุดของวอร์ฮอล ซึ่งในดราฟ์แรกๆ ที่วาดไว้ขาของผู้หญิงตั้งขึ้นมาด้านบน โดยในภายหลังได้เปลี่ยนมาเป็นท่านอนให้ขาตั้งฉากที่ทำให้ดูแล้วกระตุ้นความรู้สึกอย่างว่า

The Glass Menagerie, The Yellow Bird and Five poems (1960) คือ แผ่นเสียงพิเศษของทางค่าย Caedmon ที่เป็นการบันทึกเสียงในรูปแบบงานววรณกรรม ซึ่งเป็นเสียงของเทนเนสซี วิลเลียมส์ นัก (Tennessee Williams) เขียนชื่อดัง อ่านเรื่อง The Glass Menagerie, The Yellow Bird and Five poems ที่ถูกบันทึกเสียงครั้งแรกในปี 1953 โดยปกอันสวยงามนี้ของวอร์ฮอลถูกใช้ในชุดบันทึกลำดับที่ 4 ตั้งแต่ปี 1960 เป็นต้นไป แต่พวกภาพวาดต่างๆ ที่ปรากฏอยู่บนปกนั้นน่าจะถูกวาดตั้งแต่ปี 1957 (ภาพหญิงสาวที่กำลังนอนหลับ เด็กผู้ชายท่าทางกำลังสงสัยอยู่มุมบนขวา และนกน้อยที่อยู่ข้างล่าง มาจากหนังสือ Gold Book ของวอร์ฮอล) และที่สำคัญปกนี้เป็นอีกผลงานที่แม่ของเขาหรือ จูเลีย วาร์โฮลา (Julia Warhola) ได้มีส่วนร่วมในการทำด้วย ผู้ซึ่งอยู่เบื้องหลังงาน Calligraphy บนปกอัลบั้มหลายชุด

หนึ่งในไม่กี่อัลบั้มที่ชื่อของคนออกแบบดังขึ้นในหัวเร็วกว่าชื่อของศิลปิน ภาพกล้วยสุกจนเกือบจะงอมนี้เป็นปกอัลบั้ม The Velvet Underground & Nico (1967) ของวงร็อคสุดอินดี้ระดับตำนาน The Velvet Underground & Nico วงลูกหม้อของแอนดี้ วอร์ฮอล สิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังอัลบั้มนี้ถูกปล่อยสู่สาธารณะ เรียกว่าเป็นปรากฏการณ์การเติมจินตนาการทั้งในเรื่องของดนตรีของวง V.U. & Nico และรสชาติงานศิลปะของวอร์ฮอล ซึ่งในระยะ 20-30 ปี ให้หลังมานี้เราสามารถเห็นผลงานของศิลปินรุ่นใหม่คนอื่นๆ ที่คารวะผลงานออกแบบชิ้นนี้ของวอร์ฮอล นำเจ้ากล้วยผลนี้ไปเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานสุดเท่ของพวกเขา

สำหรับอัลบั้ม Sticky Fingers (1971) ต้นตอที่มาของอัลบั้มนี้เกิดจากการคุยกันระหว่างมิก แจ็กเกอร์ กับวอร์ฮอลในปี 1969 ในช่วงขณะนั้น The Rolling Stones กำลังเตรียมอัลบั้มเด็ดที่สุดในชีวิตของพวกเขาอย่าง “Through The Past, Darkly (1969)”  พวกเขาจึงขอให้วอร์ฮอลช่วยออกแบบปกอัลบั้มให้ด้วย แต่เมื่อวอร์ฮอลนำผลงานไปเสนอ เหล่าพลพรรค the Stones กลับยังไม่ชอบใจ แต่สุดท้ายไอเดียของเขาก็ได้ขายออกสักทีและกลายเป็นภาพจำติดตาอีกชิ้นหนึ่งให้กับวง The Rolling Stones กับภาพกางเกงยีนส์รัดแน่น มีที่ซิปถูกจัดวางอยู่ตรงกลางในระดับที่ดึงดูดสายตาเป็นอย่างดี

ก่อนที่จะมาเป็นปกอัลบั้ม The Painter (1976) ของพอล แองคา ศิลปินขวัญใจวัยรุ่นยุค ’50s ในปี 1972 แอนดี้ วอร์ฮอล ได้วาดภาพพอตเทรตของพอลถึงสี่ภาพด้วยกัน และส่งให้พอลดูระหว่างที่เขาโลดแล่นบนเส้นทางอาชีพอยู่ในแอลเอ สองในสี่ภาพที่วาดไปนั้นถูกนำมาใช้เป็นภาพปกอัลบั้ม The Painter (ปกหน้าและปกหลัง) ที่ถูกปล่อยในปี 1976 ในส่วนของภาพพอตเทรต อื่นๆ นั้นในภายหลังได้ถูกนำไปใช้เป็นปกอัลบั้มซีดีในอีก 20 ปีต่อมา วอร์ฮอลใช้กล้องโพลารอยด์ถ่ายพอลมากกว่า 70 ภาพ โดยภาพส่วนใหญ่จะเป็นรูปที่เขานั้นสวมหมวกคาวบอยสีดำ พร้อมปลดกระดุมหน้าอก แต่เรื่องตลก คือ บริเวณหน้าอกที่เขาตั้งใจเผยให้เห็นขนอกเย้าเสน่ห์ วอร์ฮอลได้จัดการเอาสีเทาลงทับ จนกลายดูเป็นเขากำลังสวมใส่เชิ้ตสีเทาไปซะอย่างงั้น

“ผมถามวอร์ฮอลว่าจะเป็นไรมั้ย ถ้าอยากให้คุณช่วยทำปกสำหรับอัลบั้มใหม่ให้ผมหน่อย ซึ่งเขาตอบว่า ‘โอเค’” นี่คือประโยคสนทนาก่อนที่เราจะได้เห็นปกอัลบั้ม Emotions In Motion (1982) อัลบั้มที่ขึ้นแท่นเป็นตำนานของวงการเพลงร็อคและเป็นหนึ่งในอัลบั้มยอดฮิตของร็อคเกอร์มาดเท่อย่างบิลลี่ สเควียร์ (Billy Squier) เจ้าตัวเคยให้สัมภาษณ์กับ Rolling Stone Magazine Rock Revue ว่าเขานั้นรู้จักและชื่นชอบผลงานของวอร์ฮอลมานานแล้ว ทั้งเทคนิควิธีการการใช้สีสันที่จัดจ้านเพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่แตกต่างออกไปได้อย่างน่ามหัศจรรย์และเขายังปลื้มในตัววอร์ฮอลในฐานะผู้ที่สามารถผสมผสานสุนทรียะงานศิลปะให้เข้ากับเรื่องของสังคมบริโภคนิยมได้อย่างลงตัว เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่สุดพิเศษ คือ อัลบั้มนี้ได้ เฟรดดี เมอร์คูรี (Freddie Mercury) และโรเจอร์ เทย์เลอร์ (Roger Taylor) มาร้องแบ็คกิ้งแทร็คให้ด้วย

อัลบั้ม Menlove Ave (1986) ตั้งจากชื่อถนนแห่งหนึ่งในเมืองลิเวอร์พูล โปรเจกต์นี้เกิดขึ้นจากหลังที่จอห์น เลนนอน (John Lennon) ได้ล่วงลับไปแล้วเป็นเวลา 6 ปี โดยมีภรรยาของเขาโยโกะ โอโนะ (Yoko Ono) เป็นผู้จัดการทุกอย่างทั้งการเลือกเพลงและทำปก เธอได้ไปขอให้แอนดี้ วอร์ฮอลช่วยทำปกประกอบอัลบั้มชุดนี้ โดยเธออยากให้ใช้รูปถ่ายหน้าตรงของจอห์น เลนนอน ที่ถ่ายเมื่อปี 1971 โดยเอียน แมคมิลลัน (Iain Macmillan) ช่างภาพคนเดียวกันที่ถ่ายภาพปกอัลบั้ม Abbey Road (1969) ซึ่งภาพนี้กลายเป็นภาพอันทรงพลัง และเป็นภาพจำของจอห์น เลนนอนในฐานะฮีโร่ของชนชั้นแรงงานและศิลปินที่แสดงออกอย่างตรงไปตรงมาทางการเมืองโดยใช้งานศิลปะเป็นสื่อ

ในช่วงต้นทศวรรษ 70 ทั้งจอห์น เลนนอน และโยโกะ โอโนะ เพิ่งได้เข้ามาในนิวยอร์กเพื่อทำผลงาน อย่างอัลบั้ม Imagine (1971) และโยโกะได้ตั้งวง The Plastic Ono ตามลำดับ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เขาทั้งสองคนได้มารู้จักวอร์ฮอลเป็นการส่วนตัวและสนิทชิดเชื้อจนกลายเป็นเพื่อนกันในภายหลัง

ปกอัลบั้มที่ดูทรงพลังและโอ่อ่ามากที่สุดของแอนดี้ วอร์ฮอลคงจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากอัลบั้ม Aretha (1986) ของอารีธา แฟรงคลิน (Aretha Franklin) ราชินีตัวจริงแห่งวงการโซล ในซองของอัลบั้มนี้ยังมีภาพวาดของอารีธา แฟรงคลินด้วยเส้นดินสอที่เป็นประจักษ์พยานได้ว่าวอร์ฮอลพยายามที่จะปรับเปลี่ยนลุคอารีธา แฟรงคลินให้ดูต่างออกไปจากที่เราเห็นบนปกอัลบั้มนี้อย่างน้อยๆ ก็สามภาพด้วยกันที่เขาวาดขึ้นมาจากภาพถ่ายบนปกอัลบั้มและซิงเกิลของผลงานอารีธา แฟรงคลินกับค่าย Arista

ปกอัลบั้มชุดนี้ไม่เพียงมีชื่อเสียงเลื่องลือในรูปแบบแผ่นเสียงเท่านั้น ในยุคที่ ‘80s ที่คอมแพคดิสก์และคาสเซตเริ่มเป็นกระแสขึ้นมาในหมู่นักฟังเพลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่เรียกว่า Longbox เอาไว้บรรจุซีดีแบบ LP ที่ทำได้ออกมาดีมากๆ ซึ่งทุกวันนี้หายากขึ้นเรื่อยๆ เป็นที่หมายตาของนักสะสม

Silk Electric (1982) อัลบั้มเดี่ยว ไดอาน่า รอสส์ (Diana Ross) อดีตศิลปินวง The Supremes โดยวอร์ฮอลได้ใช้ภาพถ่ายจากโพราลอย์ที่เคยถ่ายไดอาน่าในท่าที่เธอกำลังเปือยไหล่ (เขาใช้วิธีเดียวกันกับในอัลบั้ม The Painter ของพอล แองคาและ Emotions In Motion ของบิลลี สเควียร์) การเล่นสีสันของอัลบั้มนี้ถือว่าเป็นแนวทางที่แอนดี้ วอร์ฮอลตั้งใจอยากที่จะให้ปกอัลบ้ัมต่อจากนี้ไปมีรสชาติที่ดึงดูดใจเช่นนี้ รูปภาพทั้งหมดที่อยู่ในอัลบั้มนี้ทั้งด้านหน้า ข้างในและด้านหลังล้วนมาจากภาพถ่ายโพลารอยด์ ซึ่งแต่ละด้านจะไม่ได้เขียนว่า Side A และ Side B แต่เป็น Face A และ Face B อัลบั้มนี้มีทีเด็ดอย่างเพลง Muscles ที่ได้ ‘The King of Pop’ อย่างไมเคิล แจ็คสัน (Michael Jackson) มาแต่งเนื้อร้องให้ที่มีส่วนช่วยให้อัลบั้มนี้ขายได้ 800,000 ชุดภายในเวลาเพียงไม่นาน

มิเกล โบเซ นักแสดงและนักดนตรีแนวนิวเวฟชาวสเปน เขาเกิดที่ประเทศปานามา พ่อของเขานั้นเป็นนักสู้วัวกระทิงชื่อดังและแม่ของเขานั้นเป็นนักแสดงชาวอิตาเลียน สำหรับอัลบั้ม Made in Spain (1983) มีเรื่องเล่าจาก The Factory ในช่วงเวลาที่โบเซและแอนดี้ วอร์ฮอลกำลังทำงานร่วมกันนั้น ทำให้เราได้รู้ว่าวอร์ฮอลไม่ได้เพียงแค่ออกแบบปกอัลบั้มและกำกับให้วีดีโอให้โบเซเท่านั้น แต่เขายังเป็นคนออกไอเดียเรื่องชื่ออัลบั้มอีกด้วยและที่สำคัญโบเซเองยังมีส่วนร่วมในการเขียนชื่ออัลบั้มบนปกเองด้วย ซึ่ง Made in Spain เป็นหนึ่งในชื่อเพลงของอัลบั้มนี้

“ทำไมถึงไม่ใช้คำว่า ‘Made in Spain’ ไปเลยล่ะ วอร์ฮอลสงสัยขึ้นมา ตอนนั้นผมก็คิดว่ามันเป็นความคิดที่ดีเหมือนกัน ผมจึงเขียนชื่ออัลบั้มด้วยลายมือตัวเองโดยใช้ปากกามาร์คเกอร์ธรรมดาๆ” จากคำสัมภาษณ์ของโบเซ ในปี 2008 ในงานเปิดตัวอัลบั้ม Made in Spain อีกครั้ง

 

_______________________________________________________________________

 

การล้วงลึกถึงความเปราะบางในภาวะจิตใจผ่านเรื่องของเพศและเรือนร่าง เป็นสารที่ปรากฏอยู่ในงานของแอนดี้ วอร์ฮอลแทบจะทุกชิ้น แม้สไตล์ผลงานของเขานั้นครั้งหนึ่งจะเคยโดนวิจารณ์ว่าเป็นความฉาบฉวยชั่วครั้งชั่วคราว หรือการหยิบจับมือของศิลปินผู้อื่นมาตกแต่งใหม่ ความคิดส่วนตัวของผมอาจบอกได้ว่าข้อวิจารณ์นั้นไม่เป็นจริงสักเท่าไหร่ เพราะทุกวันนี้เราก็ยังบริโภคสิ่งที่แอนดี้ วอร์ฮอลเสกสรรขึ้นมาโดยไม่มีที่ถ้าว่าจะหยุดหย่อน ผลงานของเขากลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินรุ่นหลังมากมายที่ก้าวขึ้นมาอยู่แถวหน้าของวงการในปัจจุบัน

แม้เวลาจะผ่านไปนานแสนนานสักเท่าไหร่ ‘ความป็อป’ ที่วอร์ฮอลได้บัญญัติขึ้นมามันก็ยังคงกลิ่นหอมและรสชาติอันแสบสันไว้ได้ดังเช่นเดิม ตลอดยุค ‘60s – ‘80s เป็นช่วงที่ดอกไม้ที่เขาปลูกไว้นั้นผลิบานออกดอกหลากสีสัน เป็นการกล่าวขวัญว่าในช่วงยุคนั้นโลกไม่ได้ถูกบอกเล่าผ่านแค่เรื่องเซ็กส์ ยาเสพติดและร็อคแอนด์โรลเท่านั้น แอนดี้ วอร์ฮอลผู้นี้เปลี่ยนให้โลกใบเดิมมีเสน่ห์เพิ่มมากขึ้นและเปลี่ยนภาพวัฒนธรรมอเมริกาแบบเดิมๆ ให้ฉูดฉาดอย่างที่ไม่เคยเป็น

“Once you ‘got’ pop, you could never see a sign the same way again. And once you thought pop, you could never see America the same way again.” – Andy Warhol

Back to blog