เสน่ห์ของแผ่นเสียงและ Vintage Audio จากโลกเก่า กับการหวนคืนสู่วิถีอนาล็อกของคนยุคใหม่

เสน่ห์ของแผ่นเสียงและ Vintage Audio จากโลกเก่า กับการหวนคืนสู่วิถีอนาล็อกของคนยุคใหม่

เมื่อสรรพสิ่งบนโลกใบนี้มีวิวัฒนาการไปอย่างไม่หยุดยั้ง การหันกลับมามองความหลังจึงเป็นเรื่องที่ผู้คนโหยหา ทั้งเสื้อผ้า ของแต่งบ้าน เรื่องราวของไลฟ์สไตล์ และที่เราพอจะจับต้องได้อย่าง ‘เครื่องเล่นแผ่นเสียง’ ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เห็นว่ามันกำลังกลับมาอีกครั้ง

จริงอยู่ที่ว่า เรื่องของเครื่องเสียงในยุคปัจจุบันนั้นมีให้เลือกมากมาย ใช้งานสะดวกสะบาย หลากหลายคุณภาพ ไม่ว่าจะการฟังเพลงแบบไฮเรสโซลูชั่นบนสตรีมมิ่งหรือเครื่องเล่นพกพาที่ง่ายเพียงแค่ปลายนิ้ว แต่ในอีกฟากหนึ่งของหมู่นักฟังรุ่นใหม่ ก็ได้เกิดปรากฏการณ์หวนกลับมาศึกษาและค้นหาเรื่องราวในโลกของเสียงเพลงในอดีตหรือที่เราเรียกว่า ‘เครื่องเสียงวินเทจ’ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องเล่นไวนิล หรือชุดลำโพงต่างๆ ด้วยเหตุผลมากมายไม่ว่าจะเป็น เสน่ห์ของการออกแบบที่หาไม่ได้ที่ไหน คุณภาพเสียงที่เรียกได้ว่าตื่นตาตื่นใจกว่า และห้วงอารมณ์แห่งวันวาน กลิ่นอายความหลังที่พวกเขาไม่เคยมีโอกาสได้สัมผัสในยุคนี้

ท่ามกลางกระแส ที่คนรุ่นใหม่หันมาสนใจเครื่องเสียงวินเทจอย่างหนาหูหนาตา ก็มีเสียงสะท้อนของผู้คร่ำหวอดมาจากข้างในว่า ช้าก่อน…ใจเย็นๆ ไม่ต้องรีบ พร้อมกับชูความคิดที่ควรค่าแก่การพินิจในเรื่องของแนวเสียงและรูปแบบของการใช้งานว่า ‘เครื่องเสียงวินเทจ’ มันใช่สิ่งที่คนรุ่นใหม่ตามหาจริงๆ หรือเปล่า และฟอร์แมตอย่างแผ่นเสียงนั้นเหมาะสมกับการฟังเพลงสมัยใหม่มากกว่าการฟังผ่านไฟล์ดิจิทัลหรือสตรีมมิ่งระดับไฮเรสโซลูชั่น หรือไม่ ซึ่งอีกด้านหนึ่งของคนหนุ่มสาว พวกเขาอาจจะส่งเสียงตอบกลับมาว่าสิ่งเหล่านี้คือ ‘ความสุขส่วนตัวที่พวกเขาหลงใหล’

ในฐานะที่ผมเป็นหนึ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือผู้ที่กำลังจะเข้ามาสู่วงการเครื่องเสียง พลางคิดว่าเราจะสามารถหาตรงกลางของสมการความสุขในโลกแห่งอนาล็อกนี้ได้อย่างไร นี่เป็นเรื่องที่เราจะมาหาคำตอบกันในที่แห่งนี้กับนักฟังเพลงและผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องเสียงด้วยประสบการณ์เกือบ 30 ปีอย่าง คุณหมอไกรฤกษ์ สินธวานุรักษ์ ผู้จำกัดความให้แนวทางชุดเครื่องเสียงของตนว่าคือ ‘การผสมผสานระหว่างความวินเทจและสมัยใหม่เข้าด้วยกัน’ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีของการเล่นเครื่องเสียงที่บางทีก็ไม่ต้องเลือกฝั่ง แต่เลือกความสุขที่ตัวเองได้รับจากเสียงที่ออกมา

ดังนั้นบทความชิ้นนี้จึงเป็นเหมือนจุดพักรถให้กับผู้ที่กำลังจะเดินทางเข้าไปในโลกของเครื่องเสียง ที่คุณจะตัดสินใจได้อย่างมั่นใจมากขึ้น เมื่อถึงจุดแยกที่จะต้องเลือกทางที่ใช่ในการเล่นเครื่องเสียงของตัวเอง

หลังจากที่คุณหมอเปิดประตูบ้านกล่าวต้อนรับ จากนั้นได้พาเราเข้าสู่ในโลกส่วนตัวของเขาที่ภายในห้องมีลำโพงฮอร์นสีดำตั้งเด่นแสดงความเป็นเจ้าของอย่างน่าเกรงขาม คุณหมอเล่าให้ฟังว่าก่อนจะเป็นชุดเครื่องเสียงสุดอลังนี้นั้น ครั้งแรกของเขาก็เหมือนนักเล่นเครื่องเสียงหลายคนที่เริ่มต้นเส้นทางด้วย NAD แบรนด์ที่นักเล่นเครื่องเสียงบ้านเรารู้จักกันดีในฐานะเครื่องเสียงที่มีชื่อชั้นวางใจได้ เหมาะสมและคุ้มราคาที่จะเป็นพาหนะแรกที่จะผ่านเราท่องไปในโลกของคลื่นความสุขได้อย่างนุ่มนวล โดยเซตอัพชุดแรกของคุณหมอประกอบด้วยรีซีฟเวอร์ NAD 701 เครื่องเล่นซีดี NAD 502 และลำโพง Acoustic Research

หลังจากสั่งสมประสบการณ์มาพอสมควร คุณหมอจึงกล้าเล่นแผ่นเสียง เหตุผลที่เขาใช้คำว่า ‘กล้า’ นั้นเพราะว่าตัวเขาเองรู้สึกว่ามันเป็นการที่เขาจะต้องก้าวไปอีกสเต็ปที่ยากมากขึ้น “ผมรู้สึกว่ามันซับซ้อน แต่ว่าตอนนั้นได้มีโอกาสไปฟังเครื่องเสียงชุดนึงที่โชว์รูม เขาใช้ลำโพงบุ๊คเชลล์  ตัวเล็กๆ ที่เป็นฝีมือของคนไทย พอเซตเสร็จและใช้แผ่นเสียงเล่นแล้วก็เปิดเพลงคลาสสิก เสียงดีมาก คือพอเราได้ฟัง รู้สึกได้เลยว่าเสียงที่ได้ยินในตอนนั้น มีบางอย่างที่ซีดีมันให้ไม่ได้ จากนั้นก็เลยทำให้เราต้องขวนขวายหาเครื่องเล่นแผ่นเสียงมาเล่นให้ได้ นับเป็นความประทับใจครั้งแรก”

ความซับซ้อนที่ต้องอาศัยเวลานานถึงคุณหมอจะกล้าต่อกรด้วยนั้นคือ เหล่าอุปกรณ์ที่ต่างเป็นปัจจัยอันมีผลต่อเสียงทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ตัวฟอร์แมตต้นทางอย่างแผ่นเสียง เครื่องเล่น หัวเข็ม แอมปลิฟายเออร์ ลำโพง รวมถึงพื้นที่ในห้อง ฯ ต้องสัมพันธ์กันทั้งหมด รายละเอียดที่มากมายนี้เกิดเป็นข้อสงสัยของนักเล่นมือใหม่อย่างผมที่ต้องถามต่อผู้รู้ท่านนี้ให้ได้ว่า “เสียงที่ถูกใจจะออกมาได้ดีนั้น ชิ้นส่วนใดสำคัญที่สุด” คุณหมอก็ได้เล่าให้ฟังว่าประเด็นดังกล่าวนั้นมีคำตอบของหลายทฤษฎีและหลายสำนัก แต่ถ้าตามความเห็นส่วนตัวของเขาแล้วนั้น ถือว่าลำโพงกับห้องคือ อันดับแรกที่ต้องใส่ใจ โดยสามารถแบ่งได้เป็นเปอร์เซ็นต์ดังนี้ “ลำโพงมันต้องสัมพันธ์กับห้อง เราไม่ได้ฟังเสียงลำโพงจากซ้ายขวาอย่างเดียวแต่เราฟังเสียงที่ซับการสะท้อนของห้องด้วย เพราะฉะนั้นลำโพงกับห้องมันมีความสำคัญ 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนต้นทางของสัญญาณเสียง น่าจะ 25-30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือคือพวกภาคขยายเสียง”

ซื้อเสียงที่ตัวเองชอบ

 

คุณหมอบอกว่าก้าวแรกของการเซตอัพ คือ การเลือกเสียงที่ตัวเองชอบก่อนที่จะเริ่มประกอบร่างอุปกรณ์ต่างๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งเขาเน้นย้ำว่าสำคัญมากที่เราจะต้องหาโอกาสฟังเสียงจริง

“ฟังของจริงก่อน จากนั้นลองฟังอัลบั้มที่เราชอบของหลายซิสเท็มของพรรคพวกเรา หรือในงานเครื่องเสียง พอเราฟังอัลบั้มเดียวกัน อัลบั้มที่เราชอบกับชุดเครื่องเสียงต่างๆ ให้จำเสียงไหนที่เราชอบ ที่เรารู้สึกว่าเราเจออะไรบางอย่างที่เราไม่เคยเจอมาก่อน มันอาจจะมีรายละเอียดหรือเนื้อเสียงอะไรบางอย่างที่เราไม่เคยได้จากเนื้อเสียงเดิมๆ ของเรา ให้จำเสียงเหล่านั้นไว้และ พยายามเซตอัพให้ได้อย่างนั้น” เพราะไม่งั้นเราจะไม่มีวันรู้เลยว่าเสียงที่เราชอบนั้นมีลักษณะแบบไหน อะไรที่เรียกว่าดีหรือไม่ดี นอกจากการไปเสาะหาชุดเครื่องเสียงแล้วนั้นการรับชมคอนเสิร์ตหรือดนตรีสดแนวอะคูสติกหรือดนตรีคลาสสิกก็เป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่งเพราะช่วยให้เข้าใจถึงมิติเครื่องดนตรีแต่ละประเภทในแบบที่ควรจะเป็น

คุณหมอเสริมต่อว่า ลำโพง คือ อุปกรณ์ชิ้นแรกของการประกอบชุดเครื่องเสียง เพราะมันจะบอกเล่าถึงตัวตนของเราได้ดีที่สุดว่าเราอยากให้เสียงที่ออกมามีคาแรคเตอร์แบบไหน และจากนั้นจึงไปหาภาคขยายที่จะช่วยขับเสียงออกมาให้ได้ดีที่สุด โดย ‘เสียงที่ใช่’ ในหมู่ของนักฟังเพลงกันเองค่อนข้างมีหลากหลายประเภทและเป็นเรื่องรสนิยมส่วนบุคคลล้วนๆ ซึ่งบางคนอาจชอบฟังเสียงที่สามารถวิเคราะห์ได้อย่างตรงไปตรงมา มีรายละเอียดมากๆ หรือบางคนชอบฟังเสียงที่แบบอิ่มๆ เบสเยอะๆ ก็ว่าไป

การฟังเพลงในระบบอนาล็อกของคุณหมอ ด้วยฟอร์แมตไม่ว่าจะเป็นแผ่นเสียงและเทปรีลที่เป็นฟอร์แมตที่ใช้ในห้องอัด ก็เปรียบเสมือนการเข้าใกล้ต้นน้ำ ที่จะได้พบธรรมชาติอันบริสุทธิ์ที่สุด คุณหมอเชื่อว่ามันทำให้เขาได้สัมผัสเสียงเพลงในรูปแบบที่เขาโหยหามากที่สุด “คือเสียงที่มันเป็นอนาล็อกมันจะมีความต่อเนื่องของเสียง มีเนื้อเสียง โดยเฉพาะย่านเสียงกลางที่จะแตกต่างจากดิจิทัล”

เครื่องเสียงวินเทจมีรสชาติเฉพาะตัว

 

เรื่องเอกลักษณ์ของเครื่องเสียงวินเทจแต่ละประเทศช่วยเติมรสให้การเล่นเครื่องเสียงน่าสนใจไปอีกขั้น เขาบอกว่าถ้าเป็นเครื่องเสียงจากญี่ปุ่นนั้นสิ่งที่จะสัมผัสได้อย่างชัดเจนคือความโอเวอร์เอนจิเนียร์ที่มุ่งเน้นสุดทางเรื่องคุณภาพ โดยที่ในฝั่งตะวันตกนั้นเขามองเห็นเรื่องของแพสชันคือ สิ่งที่โดดเด่นเข้ามา เช่น ฝั่งสแกนดิเนเวียจะมีรูปลักษณ์ที่ดึงดูดสายจนเขาพูดเลยว่า “แบบโอ้โฮ เห็นแล้วใช่เลย” หรือถ้าอย่างทางเยอรมนีที่มีผลงานสุดฟังก์ชั่น มีความทนทานแข็งแรงเฉกเช่น “เหมือนรถถังแพนเซอร์ ทุกอย่างต้องบึกบัก” และอย่างฝั่งอังกฤษที่แต่ละเจ้าจะมีอัตลักษณ์ของเสียงที่ต่างกัน ที่เขาบอกว่า “มีความเป็นศิลปินในตัว” ส่วนตัวคุณหมอโปรดปรานฝั่งเยอรมนีและญี่ปุ่นมากกว่า เพราะเขาเองเห็นในความตั้งใจและทุ่มเทต่อการสร้างผลงานเป็นเลิศในเรื่องการใช้งานเป็นที่สุด

ตามความเห็นของหลายๆ คน ที่ผมเคยได้คุยมาด้วยก่อนหน้าที่จะมาเจอกับคุณหมอไกรฤกษ์ อาจจะบอกได้ว่าเครื่องเสียงวินเทจคงไม่เหมาะที่จะเล่นเพลงยุคใหม่ ด้วยเพราะแนวเพลง รายละเอียดของเสียง ลักษณะเสียงหรือรูปแบบการบันทึกในฟอร์แมตต่างๆ แต่เมื่อผมถามคุณหมอ เขากลับมีความเห็นอีกแบบ เพราะเขาเชื่อว่าเครื่องเสียงจำพวกลำโพงและแอมป์ในยุคเก่าสามารถเล่นเพลงสมัยใหม่ได้ฉลุย ไม่ว่าจะแนวไหนและไม่ว่าจะเป็นฟอร์แมตที่บันทึกแบบเก่าหรือใหม่ “ในความรู้สึกของผมนะ ลำโพง แอมป์แต่ละยุคสามารถตอบสนองเพลงในทุกยุคทุกสมัยได้อยู่แล้ว” ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าถ้าไปสัมภาษณ์คนอื่นอาจจะได้คำตอบอีกอย่างก็ได้ ซึ่งอาจจะมีข้อยกเว้นแอมป์บางประเภทอย่างซิงเกิลเอนด์ ที่มีวัตต์น้อยอาจไม่เหมาะต่อพวกเพลงเร็วรวมถึงเครื่องเสียงในยุคโมโน ที่ลักษณะที่แตกต่างไปอย่างชัดเจน

คนรุ่นใหม่กับโลกอนาล็อก

 

“มันเป็นแพสชัน การเล่นเครื่องเล่นแผ่นเสียงสำหรับคนรุ่นใหม่ผมมองว่าเป็นอารมณ์มากกว่า จะใช้คำว่า นอสทัลเจีย ก็ได้ ย้อนกลับไปถึงวันคืนในอดีต” คุณหมอเชื่อว่าทั้งตัวแผ่นดำ เครื่องเล่นแผ่นเสียง หัวเข็มและระบบที่ขับสัญญาณอนาล็อกนี้มันทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘คาแรคเตอร์’ ที่แตกต่างไปจากเสียงที่พวกเขาหรือคนรุ่นใหม่เคยได้ยินจากไฟล์ดิจิทัลหรือสตรีมมิ่งระดับไฮเรสโซลูชั่น

คุณหมอได้ชวนผมตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับลักษณะเสียงของเพลงร่วมสมัยที่คนรุ่นใหม่นิยมฟัง ซึ่งบางครั้งการฟังผ่านระบบดิจิทัลน่าจะได้ความรู้สึกเข้าใกล้ต้นทางของเสียงจริงๆ มากกว่าการที่จะต้องโยกไปฟังจากฟอร์แมตอนาล็อกอย่างแผ่นเสียงเสียด้วยซ้ำ ทั้งที่ต้นทางของเพลงมาจากระบบดิจิทัล “เพลงสมัยนี้ ผมว่า 99 เปอร์เซ็นต์ มาสเตอร์มันเป็นดิจิทัลหมด แล้วเราจะต้องวนไปหาอนาล็อก เพื่อจะฟังงานที่เป็นดิจิทัลมาสเตอร์อีกทำไม ทำไมคุณไม่ฟังดิจิทัลที่เป็นไฮเรสไฟล์ไปเลย มันอัดมายังไงคุณก็ฟังอย่างงั้นสิ”

ถึงอย่างไรก็ตามเขาก็ไม่ได้ปิดกั้น ‘เหล่านักฟังที่กำลังเดินทางข้ามเวลา’ ที่จะเข้ามาในโลกอนาล็อกแต่อย่างใด เขาได้แสดงความเป็นกังวลถึงความซับซ้อนของระบบอนาล็อกและการประกอบชุดเครื่องเสียงที่คนรุ่นใหม่เข้ามาเจออาจจะเกิดอาการเมาหมัดได้

เมื่อถามถึงความยุ่งยากหรือปัญหาในการเล่นเครื่องเสียงในระบบอนาล็อกคืออะไร คุณหมอก็ได้ขยายความว่า สิ่งสำคัญมันคือเรื่องของการจับคู่ไม่ว่าจะเป็นลำโพง แอมปลิฟายเออร์ รวมถึงอุปกรณ์ต้นทางต่างๆ เพราะปัญหาที่เขาพบของคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเข้ามาเล่นในโลกอนาล็อกนั้น คือ ยังขาดความรู้พื้นฐานการจับคู่และเซตอัพชุดเครื่องเสียง ที่คุณหมอมองว่าไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่ได้เข้าไปหา แต่เพียงอาจจะจมอยู่กับข้อมูลที่เยอะเกินไปและจับไม่ถูกจุด

ในฐานะรุ่นพี่แห่งวงการที่พยายามเป็นตัวกลางคอยย่อยข้อมูลให้กับรุ่นน้องที่เดินตามหลังมา เราจึงได้เห็นคุณหมอปรากฏตัวอยู่บนคลิปวีดีโออธิบายความรู้มากมายในสื่อออนไลน์และสามารถพบเจอตามงานเครื่องเสียงที่คอยจัดเวิร์คชอปให้คนรุ่นใหม่มาร่วมอยู่ตลอด “เพราะฉะนั้นหน้าที่ของผมคือ ความพยายามที่จะทำทุกอย่างให้เข้าใจง่ายต่อคนทั่วไป ที่จะเล่นตามทีหลัง อันนี้คือภารกิจที่ผมมาเป็นรีวิวเวอร์ คือเราเคยผ่านมาหมดแล้ว เราจะทำอย่างไรที่ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่ต้องไปเสียเวลาวนอยู่ตรงนั้น แต่ข้อมูลทุกอย่างต้องเช็คแล้วเช็คอีก บางอันที่ยังเป็นเครื่องหมายคำถามอยู่ต้องมานั่งค้นต่อจริงๆ ว่าที่มาที่ไปมันเป็นอย่างไร”

โดยเขาก็ยังบอกว่าคนรุ่นใหม่โชคดีกว่าในรุ่นเขาเยอะมากที่ทุกวันนี้อินเตอร์เน็ตสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากมาย ที่แค่เพียงถ้าเราอยากรู้ว่าอัลบั้ม The Dark Side of the Moon ของ Pink Floyd เพรสซิ่งไหนที่ควรค่าและมีคุณภาพเสียงดีที่สุดก็เพียงแค่เข้า YouTube เท่านั้นคุณก็รู้แล้ว พอรู้เสร็จก็เปิดไป Discogs ต่อเพื่อซื้อแผ่นมาสั่งเป็นอันจบ

ตรงกลางระหว่างความเป็นโลกเก่าและโลกใหม่

 

การประกาศว่าเสียงไหนคือ ‘เสียงที่ใช่’ ของชุดเครื่องเสียงแต่ละชุด ชวนให้คิดถึงอาคารที่อลังการจากฝีมือของเหล่าสถาปนิกชื่อดังที่แม้ทุกอย่างจะถูกก่อร่างสร้างจากความเที่ยงตรงของหลักการออกแบบเชิงสถาปัตย์ที่สะท้อนออกมาอย่างเช่น ผลงานระดับปรมาจารย์ องค์ประกอบรูปทรงอันบิดเบี้ยวแสนอัศจรรย์ของแฟรงก์ เกห์รี หรืองานเส้นสายเงียบสุขมแข็งแรงของ ทาดาโอะ อันโดะ ที่สุดแล้วก็ไม่แคล้วทั้งคู่จะถูกพูดถึงในมิติของความ ‘งดงาม’ ที่สุดแสนจะนามธรรม ที่ใครกันเล่าจะเป็นคนตัดสิน มันล้วนขึ้นอยู่ที่ประสบการณ์ของคนผู้นั้นจะพิพากษา เช่นเดียวกันกับเรื่องของเสียงเพลง ที่เราจะเคยได้ยินกันว่าสุ้มเสียงเก่าๆ นั้นล้วนเต็มไปด้วยเสน่ห์ อะไรคือความงดงามในโลกของคนรักเสียงเพลงกันแน่ เสียงหนานุ่ม อบอุ่นคุ้งไปด้วยอารมณ์แห่งวันวาน หรือเสียงที่แทนภาพให้เรามองเห็นรายละเอียดได้เสมือนมีวงดนตรีมาเล่นตรงหน้า

ตามที่บอกไปในช่วงต้นของบทความว่า คุณหมอ คือ ตัวอย่างของนักเล่นเครื่องเสียงที่มีพื้นฐานจากการชอบฟังเพลงจริงๆ เพราะท้ายที่สุดสิ่งที่เขาคำนึงหาใช่รูปลักษณ์หน้าตาของตัว ‘ชุดเครื่องเสียง’ แต่เป็นสุ้มเสียงของเพลงที่เขาอยากได้ยินต่างหาก หากชำเลืองตามองดูอย่างพินิจถี่ถ้วนแล้ว เซตอัพของคุณหมอเองถือได้ว่าเป็นการผสมผสานของทั้งสองสายระหว่างวินเทจและสมัยใหม่ เพราะส่วนตัวนั้นคุณหมอต้องการให้เสียงที่ออกมานั้นสัมผัสได้เหมือนมีนักดนตรีมาเล่นอยู่ตรงหน้า มีความสมจริงและยังมีคาแรคเตอร์เสียงที่เป็นวินเทจ

โดยในส่วนของจุดที่เป็นหัวใจของชุดเครื่องเสียง เขาเลือกที่จะใช้อุปกรณ์ในยุคเก่า อย่างเช่นตัวดอกลำโพง ตัวหม้อแปลงต่างๆ เพราะเชื่อว่ามันให้คุณภาพเสียงที่ดีกว่า เขากำชับกับเราต่อว่าอุปกรณ์พวกนี้ไม่ใช่แค่ของเก่าหายากเพียงอย่างเดียว แต่มันพิสูจน์ได้จริงๆ ถึงคุณภาพที่ตัวโตเท่าราคา “มันไม่เหมือนกับ พระเครื่อง หรือเฟอร์นิเจอร์เก่าที่มันราคาแพงเพราะมันหายาก แต่กับเครื่องเสียงมัน มันโชว์ได้ว่าเสียงมันดีกว่าจริงๆ อย่างเช่นหลอดสูญญากาศ หลอดในยุคเก่านอกจากมันหายากมีน้อย มันยังให้เสียงที่ดีกว่าหลอดยุคใหม่ที่เป็นเบอร์เดียวกันด้วย ทำให้มันมีคุณค่าและมีความแพงแบบมีเหตุผล”

แท้จริงแล้วการที่จะให้ได้มาซึ่งเสียงที่ถูกใจตามรสนิยมนั้น มันอาจจะได้มาจากการประกอบกันระหว่างเครื่องเสียงวินเทจและเครื่องเสียงในปัจจุบันให้เสียงออกมาเปี่ยมไปด้วยคุณภาพที่ดีและรสชาติที่เราต้องการ ที่หลายๆ คนให้คำนิยามว่ามันคือ ‘Audiophile’  “จริงๆ แล้วผมไม่ได้สนใจเลยด้วยซ้ำไปว่าชุดเครื่องเสียงของผมนั้นมันจะเป็นวินเทจหรือไม่วินเทจ หรือมันจะถูกเรียกว่าแบบไหน แต่ผมชอบคาแรกเตอร์เสียงแบบนี้ ผมต้องการปริมาตรเสียงแบบนี้ ที่สามารถฟังเบาก็ได้หรือฟังดังเพื่อต้องการไดนามิกส์ก็ได้”

ถึงประสบการณ์เครื่องเสียงชุดแรกของใครบางคนมันอาจจะยังให้เสียงที่ไม่ถูกใจสักเท่าไหร่ ซึ่งเป็นธรรมดาที่เราอาจจะต้องใช้เวลานานสักเล็กน้อยกับการเสาะหาอุปกรณ์สำคัญต่างๆ ที่จะช่วยมาต่อเติมเสริมแต่ง ฉะนั้นทางออกที่เรียบง่ายและสามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกคน คือ เราต้องสรรหาเครื่องที่เหมาะกับเสียงที่เราตามหา ให้ได้มาซึ่งส่วนผสมที่ลงตัวและเสียงที่เราถูกใจ โดยเราต้องรู้ก่อนว่า เราเป็นคนฟังเพลงแนวไหนเป็นพิเศษและชอบลักษณะเสียงแบบไหนตามที่คุณหมอไกรฤกษ์ได้แนะนำไว้ เพราะจะช่วยเราได้อย่างมากในเวลาที่จะต้องประกอบชุดเครื่องเสียงที่ไม่ว่าจะเป็นชุดแรกหรือชุดที่สอง ชุดที่สามของคุณก็ตาม

มันไม่ได้มีกฏตายตัวว่าเพลงเก่าก็จะต้องคู่กับเครื่องเสียงปีเก่าเท่านั้น เสียงเพลงที่ออกมาจากลำโพงก็เหมือนเป็นเพียงแค่กลิ่นและรสชาติที่แต่ละคนสัมผัสและถ่ายทอดออกมาด้วยประสบการณ์ตนเองด้วยทรรศนะที่ต่างกัน ซึ่งในแง่หนึ่งผมก็คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าถ้าเราเป็นคนที่ชอบฟังเพลงยุคเก่า เครื่องเสียงวินเทจก็อาจจะเป็นคำตอบที่ดี ที่เราอาจจะอิ่มไปกับสุนทรีย์และอรรถรสเพิ่มจากรูปหน้าค่าตาของตัวเครื่อง และแม้ว่าเราจะชอบฟังเพลงสมัยใหม่ เครื่องเสียงวินเทจก็ยังเป็นตัวเลือกที่เราเล่นได้ ตราบใดเสียงที่ลอยออกมานั้นสามารถเติมเต็มความสุขของเราได้

Back to blog