เสือ ธนพล อินทฤทธิ์ ทีของเสือ

จากเบื้องหลัง สู่เบื้องหน้า กับเส้นทางดนตรี เมื่อถึง "ทีของเสือ"

หากจะกล่าวถึงอัลบั้มระดับ ‘ขึ้นหิ้ง’ ของวงการเพลงไทย ที่มีเพลงฮิตโด่งดังแทบทั้งชุด ทุกบทเพลงในอัลบั้มยังคงกระหึ่มก้องในใจบรรดาคอร็อกจากรุ่นสู่รุ่น โดยเฉพาะ ‘วัยรุ่นยุค 90’ หรือคาบเกี่ยว ซึ่งได้รับการการันตีจากคอเพลงตัวจริงเป็นเวลากว่า 28 ปี

แน่นอนว่าต้องมีชื่อของ 'ทีของเสือ' อยู่ในตัวเลือกอัลบั้มที่มีคุณสมบัติข้างต้นอย่างแน่นอน

'ทีของเสือ' เป็นผลงานชุดแรกของ 'เสือ-ธนพล อินทฤทธิ์' ศิลปินเดี่ยวมากความสามารถ ผู้เปี่ยมประสบการณ์ดนตรีจากเบื้องหลังสู่เบื้องหน้าอย่างแท้จริง ด้วยผลงานคุณภาพที่ถ่ายทอดตัวตนความเป็นคนดนตรี ภาษาเพลงที่สวยงาม สละสลวย ท่วงทำนองเมโลดี้ที่ไพเราะ จนสามารถครองตำแหน่ง ‘ล้านตลับ’ ได้ทันทีที่เทปคาสเซตออกวางจำหน่ายในยุคนั้น แม้จะสำเร็จตั้งแต่ก้าวแรก แต่ตัวของเขาเอง ก็ต้องเคี่ยวกรำประสบการณ์เป็นเวลาหลายปี เพราะกว่า ‘เสือ’ จะถึง ‘ที’ ก็ใช้เวลาไม่น้อยเลยทีเดียว…

จุดเริ่มต้นของ 'เสือ ธนพล'

ชายหนุ่มเลือดศิลปินจากจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ได้เข้ามาทำงานจากตำแหน่งเล็กๆ ในค่ายเพลง RS Promotion โดยการชักชวนของ 'ปรัชญา ปิ่นแก้ว' รุ่นพี่ที่สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2530 จนเริ่มทำงานสเกลใหญ่ขึ้น จากตำแหน่ง Art Director ผู้ออกแบบปกอัลบั้มต่างๆ ของค่ายในระยะนั้น เช่น ปุยฝ้าย อ๊อด คีรีบูน ฟรุ๊ตตี้ จนมาถึง 'อิทธิ พลางกูร' ในอัลบั้ม 'ให้ มัน แล้ว ไป' เมื่อปี 2531 และอัลบั้มชุดนี้ ยังเป็นผลงานที่เปลี่ยนชีวิตของเสือ ธนพล ไปสู่อีกบทบาทที่สำคัญอย่างงดงาม

“เสือเป็นรุ่นน้องผม เรียนที่สถาปัตย์ด้วยกัน เขามีความโดดเด่นตั้งแต่สมัยเรียน เป็นคนที่รักดนตรี รักเสียงเพลง ไม่ว่าใครจะทำอะไร เขาก็จะพูดแต่เรื่องเพลง แล้วเขาก็แต่งเพลงให้กับเพื่อนๆ ไม่ใช่แต่งเล่นๆ แต่แต่งดีด้วย... หลังจากนั้นเมื่อเข้ามาทำงานที่อาร์เอส ผมก็เริ่มดึงทีมงานมาเสริม พอเสือเรียนจบ ผมก็ชวนมาทำงานที่อาร์เอส ทางค่ายก็ให้เสือมาทำหน้าที่ออกแบบปกเทป ใช้หน้าที่ที่เรียนมา คือศิลปะ...”


ปรัชญา ปิ่นแก้ว / ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง (องค์บาก, ต้มยำกุ้ง, รองต๊ะแล่บแปล๊บ) ซึ่งเป็นรุ่นพี่ร่วมสถาบันที่ได้พา ‘เสือ ธนพล’ เข้ามาทำงานในค่ายอาร์เอส

เพราะนอกจากจะได้เป็นผู้ออกแบบปกอัลบั้ม รวมทั้งโลโก้ ‘ITTI’ บนหน้าปก เสือยังได้รับโอกาสจากอิทธิ ให้เขาได้แต่งเพลงหนึ่งที่กำลังขาดเนื้อร้องอยู่พอดี จนกลายมาเป็น 'เก็บตะวัน' เพลงสร้างชื่อให้กับอิทธิ พลางกูร อีกทั้งชีวิตการทำงานของ ‘เสือ ธนพล’

“วันนั้นหลังจากแต่งเพลง ‘เก็บตะวัน’ แล้ว ผมไม่อาจล่วงรู้ได้เลยว่า มันจะเปลี่ยนแปลงชีวิตผมได้ขนาดนี้ แต่แรกคิดว่าอยากลองทำดู มั่นใจว่าต้องทำได้แน่ เลยขอพี่อิทธิว่าขอแต่งเพลงให้ ซึ่งพี่เขาก็ให้โอกาส ตอนที่ผมแต่งผมไม่รู้เหมือนกันว่าเกิดจากอะไร แต่ผมเชื่อว่าเพราะมันเป็นความฝันที่ผมอยากทำอยู่แล้ว เก็บไว้ในใจตลอดว่าต้องทำให้ได้ ตราบใดที่มีโอกาส ผมต้องทำให้ได้...” - ธนพล อินทฤทธิ์ พ.ศ. 2537

จาก ‘ความฝัน’ ซึ่งนำมาสู่ความสำเร็จ อันเป็น ‘ความสามารถ’ ส่วนตัวที่มีอยู่ ทำให้เสือได้รับตำแหน่งเป็นหนึ่งในทีมเขียนเพลงประจำค่ายอาร์เอส ตั้งแต่ปี 2532 เป็นต้นมา ซึ่งมีผลงานการแต่งเพลงรวมกว่า 40 เพลงด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ทำไม่ได้ (ฟรุ๊ตตี้) / ลืมได้ลืมเลย (ธานินทร์ ทัพมงคล) / ลูกผู้ชาย (ฉัตรชัย เปล่งพานิช) / กลัวเบื่อ, เท้าไฟ, มาเพื่อลา, เกิดแต่ตม, สู้ (ทัช ณ ตะกั่วทุ่ง) / สูญเสีย, รู้ทั้งรู้ (Fame) / หัวใจไม่เสริมใยเหล็ก, พ่อให้มา (สรพงษ์ ชาตรี) / รักไปช้ำไป, ไม่ต่างกัน, สยามพาเหรดถึงผู้ทำลาย, โกรธไม่ลง (พิสุทธิ์) / ไม่เจ็บไม่จำ, คนละคนเดียวกัน, หนี (Two) / ฉันจะบิน (ไอศูรย์ วาทยานนท์)

โดยเฉพาะ 'Hi-Rock' ในอัลบั้ม 'คนพันธุ์ร็อก' (2533) ที่ได้จัดการเขียนเพลงไปทั้งสิ้นถึง 7 เพลง อีกทั้งงานของรุ่นพี่ผู้ปูเส้นทางอย่างอิทธิ พลางกูร เช่น นับหนึ่ง ดินทราย กาลเวลา จนถึงเพลงอมตะประจำตัว ในเพลง 'รอยร้าว' และ 'เราสามคน'

ด้วยประสบการณ์ และความสามารถทางดนตรีที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ เสือก็ได้รับความไว้วางใจจากทางค่าย ให้เป็นผู้คัดเลือกศิลปินเข้ามาสู่สังกัดอาร์เอส บรรดาศิลปินที่ได้ผ่านการคัดเลือก และฝึกฝนโดยเขา ล้วนแต่ได้รับความสำเร็จ และเป็นที่รู้จักของแฟนเพลงเป็นอย่างดี เช่น 'Hi-Rock' ที่เริ่มโด่งดังจาก 'กระจกร้าว' ซึ่งเป็นผลงานเพลงจากปลายปากกาของเขา หรือแม้กระทั่งการนำสองหนุ่ม 'จอนนี่ อันวา' และ 'หลุยส์ สก๊อต' มาฟอร์มทีมเป็นกลุ่มศิลปินเด็ก ในนามของ 'Raptor' ต่างเป็นศิลปินที่เป็นที่รู้จักของแฟนเพลงระดับมหาชนอย่างมากมาย

ระหว่างชั่วโมงบินจากบทบาทคนเบื้องหลัง ในปี พ.ศ. 2534 เสือ ธนพล ก็ได้รับโอกาสมาสู่เบื้องหน้าครั้งแรก ด้วยการประพันธ์และขับร้องเพลงประกอบละครเรื่อง 'แก้วตาดวงใจ' และ 'คดีแดง' บทเพลงชื่อเดียวกับชื่อละครทั้ง 2 เรื่องดังกล่าว 

นี่คือจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้ทุกคนเริ่มได้ยิน ‘เสียง’ ของ ‘เสือ’

แล้วเสียงของเสือเสียงนี้ ก็ดังมาถึงหูของ 'เฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์' ผู้บริหารค่ายอาร์เอสที่ได้ยินเสียงร้องของเสือมาโดยตลอด จากการแต่งเพลงให้กับศิลปินต่างๆ และอัดเสียงร้องไกด์มาให้เฮียฮ้อได้ลองฟังอยู่เสมอ ทำให้จุดประกายที่ทางค่ายต้องการผลักดันศิลปินที่ทำเพลงจากความสามารถของตัวเอง จึงแนะให้เสือนำงานเพลงของตัวเองที่เขียนเก็บไว้มานำเสนอ เริ่มลงมือทำงานและสำเร็จออกมาเป็นอัลบั้มระดับมาสเตอร์พีชอีกอัลบั้มหนึ่งของอาร์เอส คือ 'ทีของเสือ' ในที่สุด

ปลายเดือนพฤษภาคมเข้าสู่เดือนมิถุนายน 2537 อาร์เอสได้เริ่มส่ง 'รักคงยังไม่พอ' เพลงรักบัลลาดเนื้อหาดี เมโลดี้สวยงาม จากผลงานการแต่งเนื้อร้องของ 'แทน ปัณฑุรอัมพร' นักร้องนำวง 'Outsider' (ศิลปินผู้ผ่านการคัดเลือกให้โดยเสือ และได้ออกอัลบั้มกับสังกัดอาร์เอส ในปี 2535) ออกมาทักทายแฟนเพลงเป็นซิงเกิ้ลเปิดตัวเพลงแรกประจำอัลบั้ม ทันทีที่รักคงยังไม่พอถูกออกกาศบนหน้าปัดวิทยุ ก็ได้รับความนิยมและเสียงตอบรับที่ดีจากแฟนเพลง จนสามารถทำสถิติเป็นเพลงอันดับที่ 1 ในช่วง You Z For It ของคลื่น Z (88.5) ติดต่อกันหลายสัปดาห์ จนมีเสียงเรียกร้องจากผู้ฟังที่โทรมาถามหาเทปเพลงจากอาร์เอส ก่อนอัลบั้ม 'ทีของเสือ' จะออกวางจำหน่ายเป็นจำนวนมาก

7 มิถุนายน พ.ศ. 2537 คือวันสำคัญที่ผลงานชิ้นเอก ได้เริ่มวางจำหน่ายสู่แผงเทปเป็นครั้งแรก ด้วยผลงานที่กลั่นกรองจากความคิดของเขากว่าค่อนอัลบั้ม พร้อมทั้ง 2 เพลงเอกจากนักแต่งเพลงเพื่อนซี้ จนออกมาเป็นอัลบั้ม 'ทีของเสือ' อัลบั้มเต็มชุดแรกของเสือ ธนพล

ทีของเสือ ไม่เพียงแต่เป็นการรวมงานเพลงจากประสบการณ์อันโชกโชนจากตัวของเขาเพียงเท่านั้น แต่ยังได้รวบรวมนักดนตรีมากฝีมือของค่ายอาร์เอสทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ระดับ ‘SuperGroup’ มาร่วมสร้างสรรค์ผลงานให้กับอัลบั้มชุดแรกของเสือ ธนพล อย่างคับคั่ง ไม่ว่าจะเป็น

  • จิตติพล บัวเนียม (Co-Producer)
  • สร่างศัลย์ เรืองศรี (หนู มิเตอร์ - กีตาร์)
  • สุรัช ทับวัง (เป้ Hi-Rock - เบส)
  • สุรพันธ์ จำลองกุล (ต๋อง วงทู - เบส)
  • สนอง โสตถิลักษณ์ (กลอง+มิกซ์เสียง)
  • ดำรงสิทธิ์ ศรีนาค (ปิงปอง Hi-Rock - กลอง)
  • อนุสาร คณะดิลก (เหม วงพลอย - เบส)

และบรรดานักดนตรีอาชีพอีกมาก รวมทั้ง 'จิตรกร บัวเนียม' คุณพ่อของ 'เอ-จิตติพล' ซึ่งเป็นอดีตนักดนตรีลูกทุ่งระดับ ‘ลายคราม’ ให้เกียรติเล่นแอกคอร์เดียนในเพลง 'เก็บไว้นาน..นาน'

การทำงานเบื้องหลังทั้งหมดในอัลบั้มนั้นมาจากเสียงของเครื่องดนตรีจริงๆ อย่างละเอียดแบบ 100% โดยไม่ใช้พาร์ทโปรแกรมคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยแต่อย่างใด

นับเป็นก้าวสำคัญที่ชื่อ ‘ธนพล อินทฤทธิ์’ ได้ขยับมาปรากฎอยู่บนหน้าปกเทปด้วยผลงานเพลงของตัวเองอย่างเต็มภาคภูมิ ถูกปรุงแต่งบนพื้นฐานของดนตรีร็อกกึ่งกลาง ผสมความเป็น ‘เพลงเพื่อชีวิต’ อันถ่ายทอดมาจากตัวตนส่วนหนึ่งของเขาได้อย่างลงตัว โดยที่ตัวของเสือ ยังได้กำกับควบคุมดูแลทุกอย่างตลอดทั้งอัลบั้ม โดยรับตำแหน่ง ‘โปรดิวเซอร์’ ในผลงานของตัวเองอีกด้วย

ไม่นานนัก หลังจากวันวางแผงอัลบั้มในรูปแบบเทปคาสเซตและซีดี และแล้ว “เสียงของเสือ” ก็ได้รับการยอมรับจากเหล่ามหาชนอย่างล้นหลาม กลายเป็นอัลบั้มร็อกที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงสุดในปี 2537 และขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในอัลบั้มเพลงที่ดีที่สุดของประเทศไทยไปตลอดกาล

ในยุคของปี 2537 อัลบั้มทีของเสือ ได้ผลิตเพื่อทำการออกจำหน่ายสู่ท้องตลาด เฉพาะรูปแบบเทปคาสเซต และแผ่นซีดี สำหรับรูปแบบแผ่นเสียงนั้น ทางค่ายอาร์เอสไม่ได้ผลิตเพื่อวางจำหน่าย แต่เพื่อใช้ในการโปรโมทอัลบั้มเท่านั้น โดยจัดส่งแผ่นเสียง ทั้งแผ่นตัดซิงเกิ้ลและแผ่นเต็มอัลบั้ม ให้กับสถานีวิทยุต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้ดีเจในแต่ละคลื่นวิทยุ ทำการเปิดแผ่นเสียงเพื่อโปรโมทอัลบั้ม และเปิดเพลงตามคำขอของแฟนเพลงในขณะนั้น จากการที่เพลงในอัลบั้มทีของเสือล้วนแต่ได้รับความนิยม แผ่นเสียงที่ดีเจได้ใช้เปิดในการจัดรายการ ต่างถูกเปิดซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่า ทำให้มีการชำรุดสึกหรอจากการใช้งาน จึงเหลือแผ่นเสียงที่สภาพดีในตลาดนักสะสม และตลาดแผ่นเสียงมือสองจำนวนน้อย เป็นเหตุผลสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้แผ่นเสียงอัลบั้มทีของเสือสภาพดีในตลาด มีราคาสูง และเป็นที่ต้องการสำหรับนักสะสมแผ่นเสียงหลายคน

และในปัจจุบัน การฟังเพลงในรูปแบบ ‘แผ่นเสียง’ เริ่มกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง ด้วยเสน่ห์เฉพาะตัวของแผ่นเสียง ที่ได้สัมผัสถึงผลงานที่แท้จริง ซึ่งเปรียบได้กับงานศิลปะอีกแขนงหนึ่ง ทั้งภาพปกขนาดใหญ่ ตัวแผ่นไวนิลสีดำเงาวาวที่หมุนผ่านหัวเข็มบนเครื่องเล่นแผ่นเสียง และคุณภาพเสียงที่ผู้ฟังได้รับจากแผ่นเสียง ล้วนเป็นสุนทรียรสในการฟังที่คนรักเสียงเพลงพึงพอใจ ทำให้ผลงานเพลงเก่าๆ จากยุคนั้น ต่างเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นในท้องตลาด และมีการนำกลับมาผลิตใหม่ในรูปแบบแผ่นเสียงหลากหลายอัลบั้ม เพื่อตอบสนองความต้องการของนักสะสม ผู้คลั่งไคล้การฟังเพลงจากแผ่นเสียงเป็นจำนวนมาก

กลับมาอีกครั้งในรูปแบบแผ่นเสียงคุณภาพสูง

จึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของ 'เสียงดี' ที่ได้รับความไว้วางใจจากค่ายอาร์เอส ในการนำผลงานสำคัญของค่ายกลับมา Re-Issue อีกครั้งในรูปแบบ “แผ่นเสียงคุณภาพสูง” เริ่มตั้งแต่ หิน เหล็ก ไฟ (First Album, Self-Titled) / Raptor The Memory Throwback / SMF Acoustique ที่กลายเป็นที่ประจักษ์แก่เหล่าแฟนเพลง นักฟังและนักสะสมแผ่นเสียงทั้งหลาย

เจตนารมณ์ที่ไม่เคยเปลี่ยนของ 'เสียงดี' คือการมอบอรรถรสที่เต็มเปี่ยมจากผลงานที่มีคุณค่าของศิลปินให้แก่แฟนเพลง โดยทุกอัลบั้มผ่านการ Re-Issue จาก Original Master เพื่อคุณภาพเสียงที่ต้องดีเทียบเท่าหรือดียิ่งกว่าแผ่นดั้งเดิม

กระทั่งเดินทางมาถึงอัลบั้ม 'ทีของเสือ' จาก ‘เสือ ธนพล อินทฤทธิ์’ ที่กำลังจะกลับมาสู่โลกอนาล็อกอีกครั้ง ผ่านการ Remaster และ Lacquer Cut โดย Mastering Engineer ระดับปรมาจารย์อย่าง 'Bernie Grundman' แห่ง 'Bernie Grundman Mastering' จากประเทศสหรัฐอเมริกา ผ่านการควบคุมทุกกระบวนการอย่างพิถีพิถันโดย 'เสียงดี'

คำยืนยันความสำเร็จของอัลบั้ม 'ทีของเสือ' จากผู้ฟังและผู้จัดจำหน่ายยุค 90

“เรารู้จักฝีไม้ลายมือของเสือมาเป็นอย่างดี สิ่งที่ดีใจคือเขาได้มีอัลบั้มของตัวเอง ก็ดีใจมาก ส่วนเพลงอะไรบ้างนั้น สำหรับผม ผมไม่รู้สึกเท่ากับการที่เขาได้มีอัลบั้มของตัวเอง และได้เป็นศิลปิน... ส่วนใหญ่ศิลปินอาร์เอสจะต้องมีภาพลักษณ์ดูดี ดูหล่อมาก่อน ก็จะมี  ‘อิทธิ พลางกูร’ ที่อาจแตกต่าง แต่จากนั้นเฮียฮ้อก็ตั้งใจปั้น ‘เสือ’ ที่ขายถึงความสามารถ” - ปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้กำกับภาพยนตร์ และเพื่อนรุ่นพี่ร่วมสถาบัน

“First impression ประทับใจมากครับ เพลงในอัลบั้มนี้ ถูกเรียบเรียงไว้อย่างน่าติดตามมาก ชอบเพลง ‘รักคงยังไม่พอ’ และตามด้วย ‘18 ฝน’ เนื้อหาของเพลงและเมโลดี้ดีมากๆ แนะนำให้หามาฟังครับ ในยุคนั้นมีอัลบั้มเพลงป๊อปออกมาเป็นส่วนใหญ่ แต่พี่เสือเขากล้าทำเพลงแนวร็อกออกมา ซึ่งผลงานออกมาดีมากๆ ด้วย ไม่รู้จักพี่เสือเป็นการส่วนตัวนะครับ แต่ในฐานะศิลปินคนหนึ่ง พี่ว่าเขาเก่งมาก มีฝีมือด้านการแต่งเพลงที่หาตัวจับยากคนหนึ่งครับ” - คุณนก-อนุชา นาคน้อย / เจ้าของร้าน น้อง ท่าพระจันทร์ ผู้จัดจำหน่ายอัลบั้ม ‘ทีของเสือ’ ในปี 2537

“เพราะมาก ใหม่มาก ใช้คำนี้ได้เลย... สิ่งที่พี่คิด คือรู้สึกว่าเป็นร็อกที่ใหม่ในยุคนั้นมาก ถ้าเป็นหนักๆ ก็จะเป็นเฮฟวี่ไปเลย อย่าง ‘หิน เหล็ก ไฟ’ หรือ ‘Hi-Rock’ แต่เพลงของพี่เสือมีความบัลลาด ผสมผสานความนุ่มละมุน มีดนตรีที่ไม่ค่อยเห็นในเพลงไทยมาก่อน... อย่างเนื้อหา ถ้าพูดถึงเพลงรักก็ดี เช่น ‘เก็บไว้นาน..นาน’ พูดถึงชายรักหญิงกันเลย ส่วนเพลงชีวิตที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสังคม ก็ดีมาก ไม่รุนแรง ใช้คำที่ละมุน แต่สามารถสื่อสารได้ว่าสังคมนี้เป็นยังไง วัยรุ่นอายุ 18 เจออะไรมาบ้าง ต้องก้าวข้ามอะไรบ้าง ใน ‘18 ฝน’ เป็นร็อกที่เราลื่นหู ฟังไม่ยากเท่าไร... พี่เสืออยู่ฝั่งร็อกก็จริง แต่เป็นร็อกที่สามารถทำให้คนที่ฟังเพลงป๊อป ก็สามารถที่จะมาฟังเพลงพี่เสือได้ ชอบพี่เสือได้ มันมีความกลางๆ ระหว่างความร็อกหนักๆ กับความบัลลาดแบบป๊อป ทำให้มีความรู้สึกว่ายังไม่เห็นกับศิลปินคนไหนในยุคนั้น ที่ทำเพลงแบบนี้ออกมา แต่จะมีของพี่เสือ ที่ค่อนข้างจะเป็นร็อกแนวใหม่ที่เข้าถึงคนได้หลากหลายกลุ่ม เราไม่ต้องหัวเฮฟวี่ เราก็ฟังได้ ทำให้เรารู้สึกอย่างนั้นครับ” - คุณอ๊อด-บัณฑิต ทองดี / ผู้กำกับ Music Video 18 ฝน, เก็บไว้นาน..นาน ที่เป็นรุ่นน้องร่วมงานกับเสือในค่ายอาร์เอส

“เป็นอัลบั้มที่ได้อารมณ์ครับ ก็เป็นตามยุค สมัยนั้น เพลงก็ต้องแบบนี้แหละ เป็นเพลงที่เขาเขียนตามอารมณ์ ปลดปล่อยชีวิตอะไรอย่างนี้ บรรยากาศของชีวิตเขา อารมณ์อย่างนั้น ประมาณนั้น เนี่ย ‘ทีของเสือ’ ชุดนี้แหละ ชุดนี้ดัง ! สมัยนั้นดังมาก เล่นที่รามคำแหงคนดูเกือบหมื่นน่ะ (คอนเสิร์ต เสือบุกราม) ที่ลานตรงด้านหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหงน่ะ จำได้ …ถึงปัจจุบัน ก็ยังมีคนมาถามหาแผ่นเสียงชุดนี้กันตลอดเลย” - คุณกฤษณ์-กฤษณ์ สังขปรีชา / เจ้าของร้านแผ่นเสียง Hall of Fame

“อยากให้ได้มีโอกาสฟังซาวด์ยุค 90 ว่าเขาบันทึกกันยังไง ซึ่งในกระบวนการปัจจุบันเนี่ย มันไม่เหมือนในอดีต ยังเป็นอนาล็อกเพียวๆ เดี๋ยวนี้มันเป็นดิจิตอลปนอนาล็อก ชุดนี้มันดีจริงๆ นะ มันดีจริงๆ มันอยู่ในความทรงจำ ตอนพี่เที่ยวผับ Hollywood ในยุค 30 ปีที่แล้วนะ ยังจำได้ ยังกระโดดที่ Hollywood รัชดาอยู่เลย” - คุณนก-พงศกร ดิถีเพ็ง / นักสะสมแผ่นเสียง และเจ้าของร้านแผ่นเสียง Records Shop

โดยความร้อนแรงจากทีของเสือ ยังได้ถูกตอกย้ำความสำเร็จด้วยคอนเสิร์ต 'Short Charge Shock Rock Concert : เสืออำพัน' ณ สนามกีฬากองทัพบก วิภาวดี-รังสิต เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2537 คอนเสิร์ตครั้งยิ่งใหญ่แห่งปีของเสือ ธนพล และกลุ่มศิลปิน 'ร็อกอำพัน' (เป้ Hi-Rock และ พิสุทธิ์ ทรัพย์วิจิตร) สองศิลปินร็อกของอาร์เอสที่ประสบความสำเร็จติดตามกันมาในช่วงนั้น

แม้ว่า ‘ทีของเสือ’ จะเป็นเพียงสตูดิโออัลบั้มชุดเดียว ในการทำงานของ ‘เสือ ธนพล’ กับ ‘อาร์เอส’ นับ 10 กว่าปี แต่เนื้อหาเพลงต่าง ๆ ในอัลบั้ม ยังคงสะท้อนภาพของสังคมไทยได้กินใจในทุกสมัยอย่างไม่เคยเปลี่ยนแปลง แม้จะผ่านกาลเวลามาถึง 28 ปีเต็ม

ในปัจจุบัน เสือ ธนพล ยังเป็น 1 ในศิลปินยุค 90 คนสำคัญ ที่แฟนเพลงต่างเรียกร้องให้มีโชว์คอนเสิร์ตต่างๆ เพื่อพบปะแฟนเพลงอย่างสม่ำเสมอ โดยมีเพจเฟสบุ๊ก 'เสือ ธนพล' เป็นศูนย์รวมของแฟนๆ เพื่อติดตามผลงาน 'ทีของเสือ' บทเพลงจากประสบการณ์ดนตรีระดับมาสเตอร์พีซที่ผลิตจากความฝันและความรัก โดยชายที่ชื่อ ‘เสือ ธนพล อินทฤทธิ์’ จะยังก้องกังวานขับขานอยู่ในหัวใจแฟนเพลงทุกคนอยู่ตลอดไป

ดั่งบทเพลงของเขา ที่มีชื่อว่า 'เก็บไว้นาน..นาน'

เป็นเจ้าของอัลบั้ม 'ทีของเสือ' จาก เสือ ธนพล อินทฤทธิ์ ในรูปแบบแผ่นเสียง ได้แล้ววันนี้ ที่นี่

Back to blog